Google

Thursday, September 24, 2009

Balance of Power : Bipolarity

ดุลอำนาจ : สองขั้วอำนาจ

ระบบดุลอำนาจแบบกระชับ ที่อำนาจแบ่งแยกออกไปอยู่ในศูนย์อำนาจที่ขัดแย้งกัน 2 ศูนย์ ระบบสองขั้วอำนาจนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งอย่างหลังนี้จะมีหลายศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้ระบบดุลอำนาจเกิดภาวะสมดุล ส่วนระบบสองขั้วอำนาจจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงหรือการพึ่งพาทางด้านอุดมการณ์หรือทางด้านการเมือง ได้ยอมผูกพันตัวเองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยอมเข้าไปอยู่ในระบบสองขั้วอำนาจที่ครอบงำโดยมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งในสองมหาอำนาจนั้น

ความสำคัญ ระบบสองขั้วอำนาจแบบกระชับนี้ เป็นลักษณะของระบบดุลอำนาจที่บังเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสองอภิมหาอำนาจ คือ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ทำการครอบงำค่าย "โลกเสรี" และค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งทำการแข่งขันกันในด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ของแต่ละอภิมหาอำนาจภายในค่ายของตนนั้น ได้เป็นแรงบีบบังคับให้รัฐอื่น ๆ ตกอยู่ในฐานะที่จะต้องพึ่งพาเพื่อความมั่นคงของตน อีกทั้งก็ยังจะแบ่งแยกการตกลงใจในปัญหาเกี่ยวกับสันติภาพและสงครามออกเป็นสองอย่างตามค่ายของตนไปด้วย ประเทศเป็นกลางทั้งหลายก็จะถูกบีบบังคับอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองฝ่ายให้มายอมศิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของสองอภิมหาอำนาจนี้ โดยผ่านทางการร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อปกป้องตนเองจากแผนการรุกรานของอีกค่ายหนึ่ง นับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ความกระชับของระบบสองขั้วอำนาจนี้ก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากผลกระทบของระบบหลายขั้วอำนาจที่ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้เกิดการแตกสลายของระบบสองขั้วอำนาจนี้เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเกิดลัทธิชาตินิยมทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจในรัฐต่าง ๆ การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ การควบคุมของสองอภิมหาอำนาจได้เพลากำลังลง เนื่องจากได้เกิดความตระหนักว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากใช้แล้วจะเป็นการเสี่ยงกับการถูกศัตรูใช้นิวเคลียร์ตอบโต้ย้อนกลับมาทำลายตนเองได้ รวมทั้งการแตกแยกทางด้านอุดมการณ์ภายในแต่ละค่ายก็ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

No comments:

Post a Comment