โลกที่สาม : ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้
สัมพันธภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ระหว่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว (ฝ่ายเหนือ) กับกลุ่มประเทศยากจนที่กำลังพัฒนา (ฝ่ายใต้) ที่ใช้คำว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ฝ่ายเหนือ - ฝ่ายใต้" นี้ก็เพราะประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ทางเหนือของกลุ่มประเทศโลกที่สามและกลุ่มประเทศโลกที่สี่ กลุ่มประเทศที่อยู่ฝ่ายใต้ส่วนใหญ่ ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ส่วนกลุ่มประเทศที่เป็นฝ่ายเหนือนั้น ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือจะพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ผ่านทางองค์การต่าง ๆ เช่น องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งมีสมาชิกรวม 24 ชาติ ส่วนกลุ่มประเทศฝ่ายใต้ก็จะประสานนโยบายและพัฒนาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเหมือนกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วจะกระทำผ่านทางกลุ่มจี - 77 ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางสำหรับกลุ่มชาติฝ่ายใต้ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 130 ชาติ ในสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ และในองค์การสำคัญอื่น ๆ ความขัดแย้งในสงครามเย็นระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกที่เคยตึงตัวมาเป็นเวลานาน ก็ได้คลายตัวลงจนได้มีการเจรจระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 และทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้มีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นมามากนั่นเอง
ความสำคัญ กลุ่มฝ่ายเหนือได้มุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่จะทำให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้เหล่านี้ได้หลุดพ้นจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต และเปิดการค้าขายและการลงทุนให้แก่บริษัทเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ ส่วนกลุ่มฝ่ายใต้ก็ได้ทุ่มเทความสนใจมุ่งมั่นจะให้บรรลุถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความทันสมัยให้บังเกิดขึ้นมาให้ได้ ต้องการจะยุติลัทธิจักรวรรดินิยมทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ตลอดจนต้องการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ต้องการยุติการเลือกปฏิบัติอันสืบเนื่องมาจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศฝ่ายใต้นั้น กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือนิยมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และทางด้านโครงสร้างระดับพื้นฐาน ส่วนในการพัฒนาแท้ ๆนั้น ก็นิยมปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกบรรษัทข้ามชาติต่างๆ สำหรับกลุ่มประเทศฝ่ายใต้เอง นิยมรับเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้มีการค้าขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น และต้องการให้วัตถุดิบที่ตนส่งไปขายมีราคาสูงขึ้น เพื่อจะได้เงินทุนกลับมาสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตนต่อไป ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือนั้น กลุ่มประเทศฝ่ายใต้เหล่านี้ก็ได้ทำการรณรงค์ให้มีโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการทางด้านเศรษฐกิจของตนมากยิ่งขึ้น โครงการที่ได้รณรงค์ต่าง ๆ ได้แก่ (1) กองทุนสหประชาชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ(เอสยูเอ็นเอฟอีดี) ซึ่งได้เสนอในสหประชาชาติเพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น เพื่อที่กลุ่มประเทศฝ่ายใต้จะสามารถได้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า หรือได้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ (2) ให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(ยูเอ็นซีทีเอดี) เพื่อส่งเสริมการส่งสินค้าของประเทศกลุ่มฝ่ายใต้ไปขายแก่กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือเพื่อให้สามารถมีเงินทุนกลับมาพัฒนาประเทศ (3) ให้มีการตั้งสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีเอ) โดยให้ขึ้นอยู่กับธนาคารโลกเพื่อให้เป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ประเภทปลอดดอกเบี้ยระยะยาว (ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ต้องคืนเงินต้นภายใน 50 ปี) และ (4) ให้มีการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่(เอ็นไออีโอ) แทนระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้สามารถได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และสามารถส่งสินค้าไปขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โครงการรณรงค์เหล่านี้ และโครงการอื่นที่มิได้กล่าวถึง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้มีโอกาสที่จะพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้เกิดขึ้นมาให้ได้นั้น ต่างก็มีอันต้องล้มเหลวไปตาม ๆ กัน เนื่องจากการปฏิเสธของกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือที่จะเข้ามามีส่วนร่วม หรือในกรณีจะมามีส่วนร่วมบ้างก็เป็นไปในลักษณะให้การสนับสนุนแบบไม่ค่อยจะเต็มใจนัก อย่างเช่นในกรณีของโครงการ เอสยูเอ็นเอฟอีดี นั้น หลังจากที่ได้ทำการรณรงค์อยู่หลายปี ในที่สุดกลุ่มประเทศฝ่ายใต้ก็สามารถครองเสียงส่วนใหญ่สองในสามในสมัชชาใหญ่ได้ กลุ่มประเทศฝ่ายใต้จึงได้ใช้อำนาจเสียงส่วนใหญ่นี้มาจัดตั้งกองทุนพัฒนาเงินทุนสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีดีเอฟ)ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับโครงการเอสยูเอ็นเอฟอีดี เพื่อให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและให้เงินกู้ต่าง ๆ แต่ประเทศกลุ่มฝ่ายเหนือกลับปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ กรณีที่ยกมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ ส่อให้เห็นว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือกับกลุ่มประเทศฝ่ายใต้นี้ กลุ่มประเทศฝ่ายใต้สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ให้มาสนับสนุนกลุ่มตนได้สำเร็จ แต่ก็ขาดความสามารถที่จะบีบบังคับกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือให้หันมาเคารพต่อเสียงส่วนใหญ่และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกลุ่มประเทศฝ่ายใต้นี้
No comments:
Post a Comment