ดุลอำนาจ
แนวความคิดว่าด้วยวิธีการที่รัฐต่าง ๆ ใช้จัดการกับปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ ในรูปแบบของการยักย้ายความเป็นพันธมิตรและการเข้าฝักเข้าฝ่าย ระบบดุลอำนาจนี้เกิดขึ้นจากการรวมผลประโยชน์ของแต่ละรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกันให้เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อขัดขวางผลประโยชน์ของรัฐอื่น ๆ ระบบนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพเดิม ทำการคุกคามความมั่นคงของรัฐที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม แนวความคิดเรื่องดุลอำนาจในทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้น สามารถแสดงให้เห็นได้ในรูปของสมการอำนาจ กล่าวคือ แฟกเตอร์หรือองค์ประกอบของสมการแต่ละข้าง บางทีอาจจะเป็นแบบมีสมดุลกัน หรือบางทีก็อาจมีข้างหนึ่งหนักกว่าอีกข้างหนึ่ง ด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆล้วนมีอธิปไตยและจะพยายามเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติตนอยู่เสมอ ดุลอำนาจนี้จึงอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นปกติ รัฐใดรัฐหนึ่งอาจจงใจดำเนินนโยบายสร้างดุลอำนาจนี้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) เคยทำแบบนี้ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) เล็งเห็นว่าผลประโยชน์ของตนจะสามารถรักษาไว้ได้ด้วยการที่ตนแสดงบทบาทเป็นผู้ถือดุล เพื่อดำรงดุลยภาพแห่งอำนาจในภาคพื้นยุโรป โดยวิธีที่คอยเคลื่อนย้ายน้ำหนักของตนเข้าไปหาฝ่ายที่อ่อนแอกว่าเมื่อยามที่ดุลยภาพถูกคุกคาม
ความสำคัญ ปรากฏการณ์ดุลอำนาจนี้ มีปรากฎอยู่ดาษดื่นในการเมืองระหว่างประเทศ และก็เป็นลักษณะสำคัญในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน นี้เป็นผลพวงเกิดจากระบบรัฐที่รัฐมวลสมาชิกซึ่งมีเอกราชมีอธิปไตย ต่างมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรและเข้าฝักเข้าฝ่าย เพราะแต่ละรัฐสมาชิกต่างก็พยายามที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติให้แก่ฝ่ายตนทั้งนั้น ดุลอำนาจนี้มิใช่เรื่องของการแสดงออกถึงความสนใจทั่ว ๆ ไป ในรูปแบบที่เป็นนามธรรม อย่างเช่นในเรื่องของสันติภาพ ทั้งนี้เพราะสันติภาพอาจจะเป็นหรืออาจจะไม่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติตนก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สถานที่ และสถานการณ์ ดุลอำนาจนี้ไม่มีองค์การกลางที่มาคอยชี้นำ และการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ ที่มาประกอบเป็นดุลอำนาจนี้จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ จะมีการโยกย้ายสมาชิกภาพ การมารวมตัวกันมีห้วงเวลาสั้น ๆ และมีจุดประสงค์จำกัด ดุลอำนาจแบบหลากหลายได้เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะโดดเด่น คือ มีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนการรวมตัวกันของมหาอำนาจต่าง ๆ อย่างน้อย 5 ชาติด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่น มีจุดประสงค์จำกัด และการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของมหาอำนาจที่มามีส่วนร่วมในดุลอำนาจนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ได้มีดุลอำนาจแบบง่าย ๆ หรือดุลอำนาจแบบสองขั้วเกิดขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการครอบงำของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา การเกิดดุลอำนาจแบบสองขั้วนี้เป็นสิ่งที่มีอันตราย เพราะเป็นการลดความยืดหยุ่น มีการแยกผลประโยชน์ไปตามประเด็นที่แยกสองอภิมหาอำนาจออกจากกัน และเป็นการลดโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนฝ่ายกันใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการผ่อนคลายความกระชับการเป็นพันธมิตรในสงครามเย็น และมีการพัฒนาระบบหลายขั้วอำนาจของทั้งสองฝ่ายในสมดุลอำนาจขึ้นมาแล้ว สภาวะก็ได้กลับคืนสู่ดุลอำนาจแบบหลากหลายอีกครั้งหนึ่ง กลไกดุลอำนาจระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ หรือเป็นแบบซับซ้อน มีแนวโน้มที่จะบังเกิดขึ้น หากมีการจัดอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ โดยให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางโดยยึดหลักการอื่นที่มิใช่ระบบกระจายอำนาจของรัฐที่มีเอกราชและอธิปไตยอย่างในปัจจุบัน
No comments:
Post a Comment