แนวสู่การศึกษานโยบายต่างประเทศ:แนวสัจนิยม-แนวอุดมคตินิยม
แนวสู่การศึกษาที่เป็นทางเลือกของผู้มีอำนาจตัดสินใจในการสร้างนโยบายต่างประเทศ แนวสู่การศึกษาแบบสัจนิยม ในการสร้างนโยบายต่างประเทศนั้น โดยพื้นฐานแล้วมีลักษณะแบบประจักษ์และยึดแนวทางปฏิบัติ ส่วนแนวสู่การศึกษาแบบอุดมคตินิยมนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบายต่างประเทศที่เป็นนามธรรมยึดประเพณีนิยม คือ จะเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ตัวบทกฎหมาย และค่านิยมทางศีลธรรม-จริยธรรม พวกที่ยึดแบบสัจนิยมมีสมมติฐานว่า องค์ประกอบสำคัญที่ดาษดื่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็คือ อำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจอย่างชาญฉลาดและอย่างมีประสิทธิผลของรัฐในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นองค์ประกอบหลักของนโยบายต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ส่วนพวกที่ยึดแนวอุดมคตินิยม มีความเชื่อตรงกันข้ามว่า นโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการทางศีลธรรม จะมีประสิทธิผลมากกว่าเพราะจะไปช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างรัฐต่าง ๆ ยิ่งกว่าจะไปกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและการขัดแย้งกัน พวกยึดแนวอุดมคตินิยมบอกว่าพลังทางศีลธรรมจะมีประสิทธิผลกว่าพลังทางกายภาพ เพราะมีความคงทนถาวรมากกว่ากัน คือ แทนที่จะใช้กำลังและการบีบบังคับ แนวทางแบบอุดมคตินิยมก็จะใช้วิธีการเอาชนะใจและสร้างความจงรักภักดีให้คนหันมายอมรับหลักการต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของรัฐ
ความสำคัญ แนวสู่การศึกษาแบบสัจนิยมและอุดมคตินิยมนี้ มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการอภิปรายถกเถียงกันถึงเรื่องที่ว่า ควรจะใช้แนวในการสร้างนโยบายต่างประเทศแบบไหนถึงจะเป็นแนวที่ดีที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา พวกที่ยึดถือตามแนวสัจนิยมบอกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นประเทศชั้นแนวหน้าเพียงประเทศเดียวก็ว่าได้ ที่ถูกทัศนคติของประชาชนและหลักการทางศีลธรรมชี้นำอย่างผิด ๆ ให้ไปยอมรับแนวปฏิบัติแบบอุดมคตินิยมมาใช้เป็นหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ผลที่เกิดขึ้นตามที่พวกสัจนิยมเห็น ก็คือ การไร้ความสามารถของสหรัฐอเมริกาที่จะแข่งขันอย่างมีประสิทธิผลกับรัฐอื่น ๆ ซึ่งวางนโยบายอยู่บนความจริงแท้ของผลประโยชน์แห่งชาติของตน ส่วนพวกอุดมคตินิยมก็มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธแนวทางสู่การศึกษาแบบสัจนิยมที่ถืออำนาจเป็นแกนกลาง โดยบอกว่าเป็นแนวของพวกถือลัทธิแมคเคียเวลลี ซึ่งจะก่อประโยชน์แก่ชาติเพียงเล็กน้อยและช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น พวกยึดแนวแบบอุดมคตินิยมนี้บอกด้วยว่า นโยบายที่จะประสบความสำเร็จส่วนใหญ่แล้ว ก็คือ นโยบายที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการและค่านิยมทางศีลธรรม และก็จะต้องเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในชาติต่าง ๆ จำนวนนับล้าน ๆ คนด้วย แนวทางนโยบายแบบอุดมคตินิยมที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีตัวอย่างเช่น หลักการโฟร์ทีนพอยท์ ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน กฎบัตรแอตแลนติกเหนือ ที่ประกาศโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ ตลอดจนกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นต้น แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิสัจนิยมและอุดมคตินิยม กล่าวคือ จะใช้แนวทางแบบสัจนิยมมาเป็นตัวกำหนดมรรควิธีที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมาย และใช้แนวทางแบบอุดมคติมาเป็นข้ออ้างเหตุผลให้คนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐรับมาดำเนินการ
No comments:
Post a Comment