Google

Thursday, September 24, 2009

Balance of Power

ดุลอำนาจ

แนวความคิดว่าด้วยวิธีการที่รัฐต่าง ๆ ใช้จัดการกับปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ ในรูปแบบของการยักย้ายความเป็นพันธมิตรและการเข้าฝักเข้าฝ่าย ระบบดุลอำนาจนี้เกิดขึ้นจากการรวมผลประโยชน์ของแต่ละรัฐที่มีความเกี่ยวข้องกันให้เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อขัดขวางผลประโยชน์ของรัฐอื่น ๆ ระบบนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐที่ต้องการเปลี่ยนสถานภาพเดิม ทำการคุกคามความมั่นคงของรัฐที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม แนวความคิดเรื่องดุลอำนาจในทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้น สามารถแสดงให้เห็นได้ในรูปของสมการอำนาจ กล่าวคือ แฟกเตอร์หรือองค์ประกอบของสมการแต่ละข้าง บางทีอาจจะเป็นแบบมีสมดุลกัน หรือบางทีก็อาจมีข้างหนึ่งหนักกว่าอีกข้างหนึ่ง ด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆล้วนมีอธิปไตยและจะพยายามเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติตนอยู่เสมอ ดุลอำนาจนี้จึงอยู่ในภาวะเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นปกติ รัฐใดรัฐหนึ่งอาจจงใจดำเนินนโยบายสร้างดุลอำนาจนี้ก็ได้ ตัวอย่างเช่น บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) เคยทำแบบนี้ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้บริเตนใหญ่ (อังกฤษ) เล็งเห็นว่าผลประโยชน์ของตนจะสามารถรักษาไว้ได้ด้วยการที่ตนแสดงบทบาทเป็นผู้ถือดุล เพื่อดำรงดุลยภาพแห่งอำนาจในภาคพื้นยุโรป โดยวิธีที่คอยเคลื่อนย้ายน้ำหนักของตนเข้าไปหาฝ่ายที่อ่อนแอกว่าเมื่อยามที่ดุลยภาพถูกคุกคาม

ความสำคัญ ปรากฏการณ์ดุลอำนาจนี้ มีปรากฎอยู่ดาษดื่นในการเมืองระหว่างประเทศ และก็เป็นลักษณะสำคัญในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกัน นี้เป็นผลพวงเกิดจากระบบรัฐที่รัฐมวลสมาชิกซึ่งมีเอกราชมีอธิปไตย ต่างมีอิสระที่จะเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรและเข้าฝักเข้าฝ่าย เพราะแต่ละรัฐสมาชิกต่างก็พยายามที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติให้แก่ฝ่ายตนทั้งนั้น ดุลอำนาจนี้มิใช่เรื่องของการแสดงออกถึงความสนใจทั่ว ๆ ไป ในรูปแบบที่เป็นนามธรรม อย่างเช่นในเรื่องของสันติภาพ ทั้งนี้เพราะสันติภาพอาจจะเป็นหรืออาจจะไม่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติตนก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สถานที่ และสถานการณ์ ดุลอำนาจนี้ไม่มีองค์การกลางที่มาคอยชี้นำ และการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ ที่มาประกอบเป็นดุลอำนาจนี้จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ จะมีการโยกย้ายสมาชิกภาพ การมารวมตัวกันมีห้วงเวลาสั้น ๆ และมีจุดประสงค์จำกัด ดุลอำนาจแบบหลากหลายได้เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีลักษณะโดดเด่น คือ มีการโยกย้ายปรับเปลี่ยนการรวมตัวกันของมหาอำนาจต่าง ๆ อย่างน้อย 5 ชาติด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่น มีจุดประสงค์จำกัด และการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของมหาอำนาจที่มามีส่วนร่วมในดุลอำนาจนี้ด้วย อย่างไรก็ดี ได้มีดุลอำนาจแบบง่าย ๆ หรือดุลอำนาจแบบสองขั้วเกิดขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการครอบงำของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา การเกิดดุลอำนาจแบบสองขั้วนี้เป็นสิ่งที่มีอันตราย เพราะเป็นการลดความยืดหยุ่น มีการแยกผลประโยชน์ไปตามประเด็นที่แยกสองอภิมหาอำนาจออกจากกัน และเป็นการลดโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนฝ่ายกันใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการผ่อนคลายความกระชับการเป็นพันธมิตรในสงครามเย็น และมีการพัฒนาระบบหลายขั้วอำนาจของทั้งสองฝ่ายในสมดุลอำนาจขึ้นมาแล้ว สภาวะก็ได้กลับคืนสู่ดุลอำนาจแบบหลากหลายอีกครั้งหนึ่ง กลไกดุลอำนาจระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นแบบง่าย ๆ หรือเป็นแบบซับซ้อน มีแนวโน้มที่จะบังเกิดขึ้น หากมีการจัดอำนาจทางการเมืองเสียใหม่ โดยให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางโดยยึดหลักการอื่นที่มิใช่ระบบกระจายอำนาจของรัฐที่มีเอกราชและอธิปไตยอย่างในปัจจุบัน

Balance of Power : Bipolarity

ดุลอำนาจ : สองขั้วอำนาจ

ระบบดุลอำนาจแบบกระชับ ที่อำนาจแบ่งแยกออกไปอยู่ในศูนย์อำนาจที่ขัดแย้งกัน 2 ศูนย์ ระบบสองขั้วอำนาจนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งอย่างหลังนี้จะมีหลายศูนย์อำนาจ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้ระบบดุลอำนาจเกิดภาวะสมดุล ส่วนระบบสองขั้วอำนาจจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐที่ต้องการแสวงหาความมั่นคงหรือการพึ่งพาทางด้านอุดมการณ์หรือทางด้านการเมือง ได้ยอมผูกพันตัวเองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และยอมเข้าไปอยู่ในระบบสองขั้วอำนาจที่ครอบงำโดยมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งในสองมหาอำนาจนั้น

ความสำคัญ ระบบสองขั้วอำนาจแบบกระชับนี้ เป็นลักษณะของระบบดุลอำนาจที่บังเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสองอภิมหาอำนาจ คือ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ทำการครอบงำค่าย "โลกเสรี" และค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งทำการแข่งขันกันในด้านการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ของแต่ละอภิมหาอำนาจภายในค่ายของตนนั้น ได้เป็นแรงบีบบังคับให้รัฐอื่น ๆ ตกอยู่ในฐานะที่จะต้องพึ่งพาเพื่อความมั่นคงของตน อีกทั้งก็ยังจะแบ่งแยกการตกลงใจในปัญหาเกี่ยวกับสันติภาพและสงครามออกเป็นสองอย่างตามค่ายของตนไปด้วย ประเทศเป็นกลางทั้งหลายก็จะถูกบีบบังคับอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองฝ่ายให้มายอมศิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของสองอภิมหาอำนาจนี้ โดยผ่านทางการร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อปกป้องตนเองจากแผนการรุกรานของอีกค่ายหนึ่ง นับตั้งแต่ทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา ความกระชับของระบบสองขั้วอำนาจนี้ก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากผลกระทบของระบบหลายขั้วอำนาจที่ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ต่อมาได้เกิดการแตกสลายของระบบสองขั้วอำนาจนี้เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเกิดลัทธิชาตินิยมทางด้านการเมืองและทางด้านเศรษฐกิจในรัฐต่าง ๆ การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ การควบคุมของสองอภิมหาอำนาจได้เพลากำลังลง เนื่องจากได้เกิดความตระหนักว่า อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถนำมาใช้ได้เนื่องจากใช้แล้วจะเป็นการเสี่ยงกับการถูกศัตรูใช้นิวเคลียร์ตอบโต้ย้อนกลับมาทำลายตนเองได้ รวมทั้งการแตกแยกทางด้านอุดมการณ์ภายในแต่ละค่ายก็ได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

Balance of Power : Polycentrism

ดุลอำนาจ : ระบบหลายขั้วอำนาจ

สถานการณ์ดุลอำนาจระหว่างประเทศที่มีลักษณะมีศูนย์กลางอำนาจจำนวนหนึ่ง ระบบหลายขั้วอำนาจหรือระบบดุลอำนาจแบบยืดหยุ่นนี้ เคยเป็นระบบที่มีขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีมหาอำนาจมามีส่วนร่วมในระบบอยู่จำนวนหนึ่ง ต่อมาระบบนี้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นระบบสองขั้วอำนาจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการควบคุมของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา

ความสำคัญ ที่ระบบหลายขั้วอำนาจกลับคืนมาได้นี้ ก็เพราะเกิดการแตกสลายของการครอบงำการเมือง ระหว่างประเทศโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในระบบสองขั้วอำนาจที่รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรแข่งขันกัน ปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นระบบหลายขั้วอำนาจประกอบด้วย (1) เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ดุลการคุกคาม“ ทางอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งไปลดความน่าเชื่อถือที่สองอภิมหาอำนาจนี้ได้ให้สัญญาไว้ว่าจะมาช่วยปกป้องพันธมิตรของฝ่ายตน (2) เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตก ซึ่งส่งผลให้มีการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา (3) เกิดลัทธิชาตินิยมขึ้นมาใหม่ทั้งในประเทศเก่าและประเทศใหม่ทั้งหลาย (4) เกิดรัฐใหม่ขึ้นมามากมาย ซึ่งผู้นำของรัฐเหล่านี้ต่างแลเห็นว่าผลประโยชน์แห่งชาติตนอยู่ที่การสร้างความทันสมัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้แก่รัฐตนยิ่งเสียกว่าจะพิจารณาในแง่การแข่งขันกันในสงครามเย็น การมีระบบหลายขั้วอำนาจนี้ หมายถึงว่า รัฐที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมามากนี้สามารถตัดสินใจได้โดยอิสระ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อระดับความตึงเครียดในโลกได้ด้วย

Foreign Office

กระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอังกฤษ) เป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีหน้าที่วางและดำเนินนโยบายต่างประเทศ นอกจากจะเรียกหน่วยงานนี้ว่า Foreign Office แล้ว ก็ยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษอย่างอื่นด้วย เช่น foreign ministry, ministry of foreign affairs, department of state รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนี้ เรียกว่า foreign secretary, foreign minister, secretary of state ในรัฐใหญ่ ๆ กระทรวงการต่างประเทศนี้มีแนวโน้มที่จะถูกจัดการบริหารโดยการยึดทั้งหลักภูมิศาสตร์และหลักหน้าที่

ความสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศของรัฐใด ๆ ก็ตาม จะเป็นเครื่องมือให้ความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้ รายงานต่าง ๆ จากนักการทูตที่ส่งไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ เมื่อรับมาแล้วก็จะมีการตรวจสอบและทำการตีค่าเพื่อให้เป็นข้อมูลดิบของนโยบายต่างประเทศในกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้ว กระทรวงการต่างประเทศนี้ก็ยังเป็นที่ร่างคำแนะนำทางนโยบายต่าง ๆ แล้วกส่งไปยังนักการทูตที่ไปประจำอยู่ ณ ต่างประเทศ ในสมัยก่อนหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศมีไม่ค่อยมากเท่าใด แต่ตกมาถึงเดี๋ยวนี้ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศใหญ่ ๆ เป็นหน่วยงานที่มีการขยายงานใหญ่โตขึ้นมาก มีการจ้างบุคลากรเข้ามาทำงานทั้งในประเทศและในต่างประเทศเป็นจำนวนนับพัน ๆ คน ในอดีตบุคลากรที่เข้ามาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศนี้มักเป็นพวกสมัครเล่นที่ผ่านการคัดเลือกตามบุญตามกรรม แต่ตกมาถึงยุคโลกสมัยใหม่นี้ ได้เกิดความซับซ้อน ความหลากหลายในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ก็จึงจำต้องคัดเลือกคนเข้าทำงานในลักษณะที่ต้องเป็นคนมีการศึกษาสูง มีการเลือกเฟ้น มีการฝึกปรือและมีความเชี่ยวชาญขนาดมืออาชีพมากกว่าเดิมยิ่งขึ้น

Foreign Policy

นโยบายต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ หรือแผนปฏิบัติการที่พัฒนาโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจแห่งรัฐเพื่อใช้ต่อรัฐอื่น หรือองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่นิยามไว้ว่าเป็นประโยชน์แห่งชาติ นโยบายต่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดำเนินการโดยรัฐนี้ อาจเป็นผลมาจากการริเริ่มของรัฐนั้นเองหรืออาจจะเป็นปฏิกิริยาต่อการริเริ่มที่ดำเนินการโดยรัฐอื่น นโยบายต่างประเทศจะเกี่ยวกับกระบวนการแบบพลวัตรของการใช้การตีความผลประโยชน์แห่งชาติที่ค่อนข้างจะกำหนดไว้แน่นอนแล้ว กับองค์ประกอบทางสถานการณ์ที่เลื่อนไหลไม่หยุดอยู่กับที่ของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติ และจากนั้นก็จะใช้ความพยายามในทางการทูตพื่อให้บรรลุถึงแนวนโยบายให้ได้ สำหรับลำดับขั้นตอนในกระบวนการนโยบายต่างประเทศประกอบด้วย (1) การแปลสิ่งที่พิจารณาว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติให้เป็นเป้าหมายและจุดประสงค์ (2) การกำหนดองค์ประกอบทางสถานการณ์ทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับภายในประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของนโยบาย (3) การวิเคราะห์ขีดความสามารถของรัฐในการที่จะให้บรรลุถึงผลลัพธ์ตามที่ต้องการ (4) การพัฒนาแผนงานหรือยุทธศาสตร์เพื่อจะใช้ขีดความสามารถของรัฐเพื่อดำเนินการกับตัวแปรต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (5) การปฏิบัติการสำคัญ ๆ (6) การทบทวนและการวัดผลความคืบหน้าในการที่จะให้บรรลุถึงผลที่ต้องการตามห้วงเวลาต่าง ๆ กระบวนการที่ว่ามานี้จะไม่เป็นไปตามลำดับดังข้างต้นนี้ก็ได้ บางทีในกระบวนการอาจมีการดำเนินการขั้นตอนหลายอย่างพร้อม ๆ กัน และอาจจะต้องมีการไปเริ่มประเด็นพื้นฐานใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดภาวะชะงักงันขึ้นมา ด้วยเหตุที่สถานการณ์ระหว่างประเทศจะมีลักษณะเลื่อนไหลอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น กระบวนการนโยบายต่างประเทศก็จะมีลักษณะต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

ความสำคัญ ถึงแม้ว่านโยบายต่างประเทศนี้จะไม่สามารถแยกออกจากนโยบายภายในประเทศได้โดยสิ้นเชิง แต่ก็มีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจที่ดำเนินการโดยรัฐส่วนใหญ่ ว่าโดยทั่ว ๆ ไปนั้น รัฐที่มีอำนาจมาก ๆ จะทุ่มเทความพยายามและทรัพยากรของตนให้กับการพัฒนาและการดำเนินนโยบายต่างประเทศนี้ยิ่งกว่ารัฐขนาดกลางหรือรัฐเล็ก ๆ คำว่า "นโยบายต่างประเทศ" แม้ว่าจะชอบใช้กันในความหมายกว้าง ๆ ที่กินความไปถึงโครงการต่างประเทศทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐดำเนินการอยู่ แต่ก็สามารถใช้ในความหมายที่เฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวกับสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และการปฏิบัติการของรัฐที่จะให้บรรลุถึงจุดประสงค์ที่จำกัดนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐก็จะต้องดำเนินนโยบายหลายอย่าง ต้องตั้งเป้าหมายไว้หลายเป้าหมาย ต้องวางแผนทางยุทธศาสตร์ไว้หลายแผน ต้องทำการตีค่าขีดความสามารถไว้หลาย ๆ อย่าง ตลอดจนต้องทำการริเริ่มและตีค่าการตัดสินใจและการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไว้โดยตลอด จะต้องมีการประสานระหว่างนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้การวางแผนงานและการปฏิบัติการต่าง ๆ อยู่ในกรอบกว้าง ๆ ของแนวปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ กิจกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ส่วนใหญ่แล้วจะดำเนินการในกระทรวงการต่างประเทศของรัฐต่าง ๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผ่านทางระบบราชการที่จัดแบ่งเป็นหน่วยงานในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ การปฏิบัติการทางนโยบายต่างประเทศยากที่จะประเมินผล ทั้งนี้เพราะ (1) ผลดีและผลเสียในระยะสั้นจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับผลดีและผลเสียในระยะยาว (2) ผลกระทบที่เกิดกับชาติต่าง ๆ ยากที่จะประเมิน (3) นโยบายส่วนใหญ่จะส่งผลออกมาในลักษณะที่มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งยากจะแยกแยะออกจากกันได้

Foreign Policy Approach : Realist-Idealist Dichotomy

แนวสู่การศึกษานโยบายต่างประเทศ:แนวสัจนิยม-แนวอุดมคตินิยม

แนวสู่การศึกษาที่เป็นทางเลือกของผู้มีอำนาจตัดสินใจในการสร้างนโยบายต่างประเทศ แนวสู่การศึกษาแบบสัจนิยม ในการสร้างนโยบายต่างประเทศนั้น โดยพื้นฐานแล้วมีลักษณะแบบประจักษ์และยึดแนวทางปฏิบัติ ส่วนแนวสู่การศึกษาแบบอุดมคตินิยมนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบายต่างประเทศที่เป็นนามธรรมยึดประเพณีนิยม คือ จะเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ตัวบทกฎหมาย และค่านิยมทางศีลธรรม-จริยธรรม พวกที่ยึดแบบสัจนิยมมีสมมติฐานว่า องค์ประกอบสำคัญที่ดาษดื่นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็คือ อำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจอย่างชาญฉลาดและอย่างมีประสิทธิผลของรัฐในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เป็นองค์ประกอบหลักของนโยบายต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ ส่วนพวกที่ยึดแนวอุดมคตินิยม มีความเชื่อตรงกันข้ามว่า นโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการทางศีลธรรม จะมีประสิทธิผลมากกว่าเพราะจะไปช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างรัฐต่าง ๆ ยิ่งกว่าจะไปกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและการขัดแย้งกัน พวกยึดแนวอุดมคตินิยมบอกว่าพลังทางศีลธรรมจะมีประสิทธิผลกว่าพลังทางกายภาพ เพราะมีความคงทนถาวรมากกว่ากัน คือ แทนที่จะใช้กำลังและการบีบบังคับ แนวทางแบบอุดมคตินิยมก็จะใช้วิธีการเอาชนะใจและสร้างความจงรักภักดีให้คนหันมายอมรับหลักการต่าง ๆ ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของรัฐ


ความสำคัญ แนวสู่การศึกษาแบบสัจนิยมและอุดมคตินิยมนี้ มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับการอภิปรายถกเถียงกันถึงเรื่องที่ว่า ควรจะใช้แนวในการสร้างนโยบายต่างประเทศแบบไหนถึงจะเป็นแนวที่ดีที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา พวกที่ยึดถือตามแนวสัจนิยมบอกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นประเทศชั้นแนวหน้าเพียงประเทศเดียวก็ว่าได้ ที่ถูกทัศนคติของประชาชนและหลักการทางศีลธรรมชี้นำอย่างผิด ๆ ให้ไปยอมรับแนวปฏิบัติแบบอุดมคตินิยมมาใช้เป็นหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ผลที่เกิดขึ้นตามที่พวกสัจนิยมเห็น ก็คือ การไร้ความสามารถของสหรัฐอเมริกาที่จะแข่งขันอย่างมีประสิทธิผลกับรัฐอื่น ๆ ซึ่งวางนโยบายอยู่บนความจริงแท้ของผลประโยชน์แห่งชาติของตน ส่วนพวกอุดมคตินิยมก็มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธแนวทางสู่การศึกษาแบบสัจนิยมที่ถืออำนาจเป็นแกนกลาง โดยบอกว่าเป็นแนวของพวกถือลัทธิแมคเคียเวลลี ซึ่งจะก่อประโยชน์แก่ชาติเพียงเล็กน้อยและช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น พวกยึดแนวแบบอุดมคตินิยมนี้บอกด้วยว่า นโยบายที่จะประสบความสำเร็จส่วนใหญ่แล้ว ก็คือ นโยบายที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักการและค่านิยมทางศีลธรรม และก็จะต้องเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในชาติต่าง ๆ จำนวนนับล้าน ๆ คนด้วย แนวทางนโยบายแบบอุดมคตินิยมที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มีตัวอย่างเช่น หลักการโฟร์ทีนพอยท์ ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน กฎบัตรแอตแลนติกเหนือ ที่ประกาศโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ ตลอดจนกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นต้น แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิสัจนิยมและอุดมคตินิยม กล่าวคือ จะใช้แนวทางแบบสัจนิยมมาเป็นตัวกำหนดมรรควิธีที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมาย และใช้แนวทางแบบอุดมคติมาเป็นข้ออ้างเหตุผลให้คนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐรับมาดำเนินการ

Foreign Policy Approach : Revisionist

แนวสู่การศึกษานโยบายต่างประเทศ : แนวต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม

นโยบายต่างประเทศที่รัฐพยายามจะเปลี่ยนแปลงการกระจายดินแดน อุดมการณ์ หรืออำนาจระหว่างประเทศที่มีอยู่แต่เดิม เพื่อให้เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตน นโยบายการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมนี้จะมีลักษณะชอบขยายดินแดนและแสวงหาสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา ดังนั้น รัฐจะมีแนวโน้มไปในทางที่จะดำเนินโบายแบบนี้ หากว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่พึงพอใจกับสถานภาพเดิมที่มีอยู่นั้น และมีความเชื่อว่ารัฐตนมีความสามารถที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้นี้

ความสำคัญ นโยบายต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมนี้ ปกติแล้วจะนำมาดำเนินโดยรัฐ”ที่ไม่มี” หรือรัฐ”ที่ไม่พึงพอใจ” จึงได้หาทางปรับปรุงสถานะระหว่างประเทศของตน โดยดำเนินการริเริ่มทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รัฐที่ยึดแนวนโยบายต้องการเปลี่ยนสถานภาพเดิมนี้ ถึงแม้ว่าจะใช้ยุทธวิธีเชิงรุกไม่ใช้ความรุนแรงหลากหลายในการที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย แต่ในที่สุดก็อาจจะใช้ปฏิบัติการแข็งกร้าวหรือประกาศสงครามไปเลยในการที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม แม้แต่ในรัฐที่ยึดแนวทางแบบรักษาสถานภาพเดิม หากไปยึดถือลัทธิต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมนี้เข้าแล้วก็จะมีแนวโน้มไปในทางที่จะใช้นโยบายเชิงรุกต่าง ๆ ขึ้นมา แม้แต่ในเรื่องของการแยกตัวเป็นฝักเป็นฝ่ายของรัฐต่าง ๆ ที่เป็นผลพวงมาจากการแบ่งแยกระหว่างรัฐที่ยึดแนวต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมกับรัฐที่ยึดแนวต้องการรักษาสถานภาพเดิม ก็จะเป็นการส่งเสริมให้มีการก่อตัวตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มที่ทำการต่อต้านตรงกันข้ามขึ้นมา รวมทั้งจะทำให้เกิดระบบดุลอำนาจขึ้นมาได้ด้วย รัฐที่ยึดแนวทางต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม มีแนวโน้มที่จะมองการทูต สนธิสัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ตนสามารถใช้เพื่อชิงความได้เปรียบในการต่อสู้แสวงหาอำนาจ ยิ่งเสียกว่าจะเห็นว่าสิ่งดังกล่าวสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดความขัดแย้งและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่นาซีเข้าครองอำนาจอยู่นั้น ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสถานะทางอำนาจและทางดินแดนของตนในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1930 โดยการสร้างเสริมอาวุธขึ้นมาใหม่ อันเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และได้ปฏิบัติการหลอกลวงต่าง ๆ ตลอดจนทำการคุกคามด้วยการขู่ว่าจะทำสงคราม ใช้การเมืองบีบรัฐที่อ่อนแอกว่า และใช้วิถีทางการทูตมีชัยชนะหลายครั้งจนสามารถทำข้อตกลงที่เมืองมิวนิคได้สำเร็จ เป็นต้น แต่พอครั้นยุทธวิธีเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในระยะต่อมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็ได้นำชาติของเขาเข้าสู่สงครามกับกลุ่มชาติที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิม

Foreign Policy Approach : Status Quo

แนวสู่การศึกษานโยบายต่างประเทศ:แนวต้องการรักษาสถานภาพเดิม

นโยบายต่างประเทศที่มีจุดมุ่งที่จะดำรงการกระจายดินแดน อุดมการณ์ หรืออำนาจระหว่างประเทศที่มีอยู่แต่เดิมเอาไว้ นโยบายที่มุ่งรักษาสถานภาพเดิมไว้นี้ จะมีลักษณะพื้นฐานแบบจารีตนิยมและแบบเชิงรับ ดังนั้น รัฐจะดำเนินนโยบายรักษาสถานภาพเดิมนี้ หากว่าฝ่ายตนอยู่ในฐานะได้เปรียบในทางการเมืองโลก และจะพยายามให้คงแบบเดิมนี้ไว้ยิ่งเสียกว่าจะไปเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ที่มีอยู่เดิมของตน

ความสำคัญ นโยบายรักษาสถานภาพเดิมอันเป็นนโยบายเชิงรับนี้ จะดำเนินการโดยรัฐหรือกลุ่มรัฐที่เรียกว่า"พวกพอใจแล้ว” หรือ “พวกมีแล้ว” ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับนโยบายเชิงรุกหรือนโยบายต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมที่ดำเนินการโดยรัฐหรือกลุ่มรัฐที่ไม่มีหรือชอบขยายสิ่งที่มีอยู่ออกไป การแบ่งกลุ่มอำนาจที่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกระหว่างพวกที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิมกับพวกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมนี้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการก่อตัวรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรและกลุ่มต่อต้านฝ่ายตรงข้ามขึ้นมา และจะพัฒนาต่อไปเป็นระบบดุลอำนาจ รัฐต่าง ๆ ที่ยึดแนวรักษาสถานภาพเดิมนี้ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาต่อต้านการริเริ่มต่าง ๆ ของพวกรัฐที่ยึดแนวต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม จะพยายามหลีกเลี่ยงการขัดแย้งอย่างเปิดเผย หรือขยายปฏิบัติการทางทหาร จะมุ่งเน้นไปที่ปฏิบัติการทางการทูต และมุ่งให้บรรลุถึงข้อตกลงต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ฝ่ายตนได้กลับไปอยู่ในฐานะมีความได้เปรียบก่อนหน้าที่จะเกิดกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กันนั้น กฎหมายระหว่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นพลังในการรักษาสถานภาพเดิมในกิจการโลก ก็มักจะถูกนำมาอ้างโดยรัฐที่ต้องการรักษาสถานภาพเดิมอยู่บ่อย ๆ เพื่อใช้ปกป้องสิทธิดั้งเดิมของตนเอาไว้ ในโลกปัจจุบันนี้มีรัฐต่างๆ มากกว่า 40 รัฐ ได้เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกา เพื่อปกป้องสถานภาพเดิมของตนเองโดยวิธีป้องปรามการรุกรานหรือก่อการเปลี่ยนแปลงโดยการปฏิวัติใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ที่จะริเริ่มกระทำโดยรัฐต่าง ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม ยกตัวอย่างเช่น สหภาพโซเวียตได้ให้ความจำกัดความสถานภาพเดิมในโลกนี้ไว้ว่า คือ การที่คนพื้นเมืองก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวของลัทธิมาร์กซิสต์ แต่ทว่าการขัดแย้งระหว่างโลกเสรีกับฝ่ายคอมมิวนิสต์นี้ ไม่เหมือนกับความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ยึดแนวรักษาสถานภาพเดิมกับฝ่ายที่ยึดแนวต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม คือ แต่ละฝ่ายที่ทำการแข่งขันชิงอำนาจกันอยู่นี้ ต่างถือว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกจักรวรรดินิยมที่ทำการคุกคามต่อผลประโยชน์ที่ฝ่ายตนให้การนิยามไว้ว่าเป็นสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งสถานภาพเดิม

Foreign Policy Components : Elements of National Power

องค์ประกอบนโยบายต่างประเทศ : ปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติ

ปัจจัยต่าง ๆ ที่รวมกันประกอบเป็นอำนาจแท้ ๆ และเป็นศักยภาพทางอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง ปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติบางอย่างมีองค์ประกอบทางธรรมชาติซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ ขณะที่ปัจจัยอำนาจแห่งชาติอีกส่วนหนึ่งเป็นตัวแปรที่ต้องอาศัยแรงกระตุ้นการจัดการและขีดความสามารถของมนุษย์เป็นหลัก องค์ประกอบสำคัญในสมการอำนาจประกอบด้วย (1) ขนาด ทำเล ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของดินแดนของชาติ (2) ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรพลังงาน และพืชพันธุ์ธัญญาหารที่สามารถผลิตขึ้นมาได้ (3) ประชากร รวมทั้งขนาดความหนาแน่น อายุ และเพศ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ของประชากรต่อหัวกับรายได้ประชาชาติรวม (4) ขนาดและประสิทธิผลของโรงงานอุตสาหกรรม (5) ขอบข่ายและประสิทธิผลของระบบการขนส่งและการสื่อสารมวลชนต่าง ๆ (6) ระบบการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัย จำนวนและคุณภาพของผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่เทคนิคต่าง ๆ (7) ขนาด การฝึกอบรม อุปกรณ์และขวัญกำลังใจของกำลังทหาร (8) ลักษณะและความแข็งแกร่งของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม (9) คุณภาพของนักการทูตและเชิงการทูต (10) นโยบายและท่าทีของผู้นำของชาติ และ (11) ลักษณะประจำชาติและขวัญของประชาชน

ความสำคัญ ไม่มีปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียวที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพอที่จะเป็นตัวกำหนดศักยภาพทางอำนาจของชาติ หรือเป็นตัวกำหนดผลของการต่อสู้กับชาติอื่น ๆ ได้ ปัจจัยทางอำนาจส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะสัมพัทธ์กับกาลเวลาและพลังความเข้มแข็งของฝ่ายศัตรูคู่แข่ง และการประเมินขีดความสามารถของชาติโดยที่ไม่พิจารณาถึงธรรมชาติของปัจจัยต่าง ๆ ในเชิงเปรียบเทียบกัน ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1940 ฝรั่งเศสได้เตรียมพร้อมทั้งทางด้านการทหารและทางด้านจิตวิทยาเพื่อสู้รบในสงครามแบบเก่าอย่างเมื่อครั้ง ค.ศ. 1914-1918 ทว่าปี ค.ศ. 1940 กองทัพเยอรมันได้มีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีและยุทธวิธีทำสงครามแบบใหม่ เกินที่แนวความคิดเรื่องแนวป้องกัน "มาจิโนต์ไลน์" ของฝรั่งเศสจะต้านทานไว้ได้ ก็จึงทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ พลังอำนาจแห่งชาติจะถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลสามารถให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของรัฐได้หรือไม่นั้นส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับผู้นำของชาติว่ามีความสามารถในการระดมสร้างบูรณาการ และชี้นำในการใช้ปัจจัยกำลังอำนาจแห่งชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด นอกเหนือจากนั้นแล้วศักยภาพของชาตินี้ก็ยังขึ้นอยู่กับว่า รัฐอื่นมีการประเมินปัจจัยอำนาจของรัฐนั้นอย่างไรบ้าง ตลอดจนมีการปฏิบัติการตามการประเมินผลนั้นอย่างไรบ้าง ในยุคนิวเคลียร์ย่างเช่นทุกวันนี้ การมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายมากทำให้รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองมีอำนาจขึ้นมาก็จริง แต่เนื่องด้วยอาวุธชนิดนี้มีอานุภาพทำลายร้ายแรงมาก จึงไม่มีการนำออกมาใช้กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจจะมีน้ำหนักมากกว่าอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อจะต้องนำมาประเมินอำนาจชาติในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง

Foreign Policy Component : National Interest

องค์ประกอบนโยบายต่างประเทศ : ผลประโยชน์แห่งชาติ

จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐานและตัวกำหนดสูงสุด ที่จะชี้นำผู้มีอำนาจตัดสินใจของรัฐในการสร้านโยบายต่างประเทศ ผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐนี้ เป็นแนวความคิดกว้าง ๆ เกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งของรัฐ ปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งเหล่านี้ ก็คือ การปกป้องตัวเอง เอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน ความมั่นคงทางทหาร และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยเหตุที่ผลประโยชน์แห่งชาติต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีผลประโยชน์ใดเพียงหนึ่งเดียวที่มีความโดดเด่นครอบงำในการทำหน้าที่ดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น แนวความคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินี้ในเวลาใช้ภาษาอังกฤษเขาจึงใช้ในรูปของพหูพจน์ว่า "national interests" เมื่อรัฐวางนโยบายแห่งชาติ โดยให้ความสนใจกับหลักการทางด้านศีลธรรม-จริยธรรมระดับสากลน้อย หรือไม่ให้ความสนใจใด ๆ เลย ก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายตามแนวสัจนิยม ซึ่งมีลักษณะที่ขัดแย้งกับนโยบายของแนวอุดมคตินิยม

ความสำคัญ แต่ละรัฐที่อยู่ในระบบรัฐแบบปัจจุบัน ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 180 รัฐ ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกอื่น ๆ เมื่อตนต้องพัฒนานโยบายและปฏิบัติการทางการทูตต่าง ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติตามที่ฝ่ายตนได้ให้คำจำกัดความเอาไว้นั้น เมื่อยามที่ผลประโยชน์ต่าง ๆ มีความกลมกลืนกันได้ รัฐต่าง ๆ ก็มักจะช่วยกันประสานแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ แต่เมื่อยามที่ผลประโยชน์ต่าง ๆ เกิดขัดกันขึ้นมา ก็จะเกิดการแข่งขัน มีการชิงดีชิงเด่น เกิดการตึงเครียด เกิดการหวั่นกลัวกัน และในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่สงครามได้ เทคนิควิธีต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาในระบบรัฐเพื่อให้นำมาใช้ในการประนีประนอมความขัดแย้งในผลประโยชน์แห่งชาตินี้ ประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ คือ การทูต การแก้ไขกรณีพิพาทโดยสันติวิธี กฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระดับภูมิภาค สถาบันระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า องค์การระหว่างประเทศและองค์การชำนัญพิเศษต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติ ปัญหาสำคัญของการสร้างนโยบายต่างประเทศและการทูตนี้ ก็คือ ปัญหาในการแปลผลประโยชน์แห่งชาติที่ยังคลุมเครือและยังมีลักษณะกว้าง ๆ ให้เป็นจุดหมายและเป็นมรรควิธีที่เป็นรูปธรรมและมีความกระจ่างชัดยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลายอย่างในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศอย่างไร แต่แนวความคิดในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินี้ก็ยังคงเป็นองค์ประกอบที่ยังยืนยงคงที่และเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจในกระบวนการนโยบายต่างประเทศ

Foreign Policy Components : Objectives

องค์ประกอบนโยบายต่างประเทศ : วัตถุประสงค์

เป้าหมายที่นโยบายต่างประเทศต้องการดำเนินไปเพื่อให้บรรลุถึง วัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศ คือ การวางรูปแบบที่เป็นรูปธรรมซึ่งได้มาจากการนำเอาผลประโยชน์แห่งชาติมาให้เกิดความสัมพันธ์กับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีอยู่ในขณะนั้น และให้สัมพันธ์กับอำนาจที่รัฐมีอยู่ในขณะนั้นด้วย วัตถุประสงค์นี้จะถูกผู้มีอำนาจตัดสินใจเลือกเฟ้นมาใช้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลง (นโยบายต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม) หรือเพื่อการดำรงไว้ (นโยบายรักษาสถานภาพเดิม) ซึ่งสภาวะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งในสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ

ความสำคัญ วัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศ เป็นผลผลิตของการวิเคราะห์จุดหมายปลายทางและมรรควิธีของนโยบาย ตามหลักมีอยู่ว่า จุดหมายปลายทางที่ต้องการนี้ จะเป็นตัวไปกำหนดมรรควิธีที่ได้เลือกไว้เพื่อให้บรรจุถึงจุดหมายปลายทางอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าหากว่ามีแนวปฏิบัติมาให้เลือกหลายอย่าง แนวทางใดที่จะส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติที่ชัดเจนที่สุด ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็จะเลือกแนวทางปฏิบัติอันนั้น แต่บางทีสถานการณ์ก็อาจจะพลิกผันไปในทางตรงกันข้ามกับที่กล่าวมานี้ก็ได้ คือ มรรควิธีที่มีอยู่ขณะนั้นอาจเป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์ที่รัฐต้องการจะบรรลุถึงนั้นก็ได้ อย่างหลังนี้เรียกว่าเหตุการณ์เกิดการล้ำหน้านโยบาย ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศที่เป็นรูปธรรมของแต่ละรัฐจะแตกต่างกัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าเป้าหมายในเชิงนามธรรมจะเหมือน ๆ กัน เช่น การคุ้มครองตนเอง ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองของชาติ เกียรติภูมิของชาติ การปกป้องและส่งเสริมอุดมการณ์ และการแสวงหาอำนาจ เป็นต้น

Foreign Policy Components : Situational Factors

องค์ประกอบนโยบายต่างประเทศ: องค์ประกอบทางสถานการณ์

ตัวแปรทั้งในระดับระหว่างประเทศ และในระดับชาติ ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจนำมาพิจารณาเมื่อทำการสร้างนโยบายต่างประเทศ องค์ประกอบทางสถานการณ์เหล่านี้ประกอบด้วย (1) สภาวะหรือสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ท่าที การกระทำ และผลประโยชน์ แห่งชาติที่เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการนโยบายต่างประเทศของรัฐอื่นนำมาใช้พิจารณา (2) อำนาจหรือขีดความสามารถในเชิงเปรียบเทียบของรัฐตามที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทำการประเมิน และ (3) การกระทำและปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งที่รัฐอื่นแสดงออกมา โดยเกี่ยวโยงกับการวินิจฉัยและการดำเนินนโยบาย

ความสำคัญ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางสถานการณ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการนโยบายต่างประเทศ ถึงแม้ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจะไม่สามารถรู้และวิเคราะห์ปัจจัยทางสถานการณ์ ที่มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจได้ทุกปัจจัย แต่การรู้และเข้าใจปัจจัยทางสถานการณ์ที่มีความสำคัญมาก ๆ และการรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้กับมรรควิธีและวัตถุประสงค์ของรัฐ ก็จะไปช่วยให้การดำเนินนโยบายมีโอกาสสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุที่ปัจจัยทางสถานการณ์นี้ส่วนใหญ่แล้วยากที่จะประเมินได้อย่างสมบูรณ์และกระจ่างชัด เพราะฉะนั้น กระบวนการนโยบายต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องศิลปะมากกว่าจะเป็นเรื่องของศาสตร์ ดังนั้น การตัดสินใจของผู้มีอำนาจตัดสินใจจึงมักจะต้องอิงอาศัย ความรู้ที่ยังกระจัดกระจายและการตีค่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ขณะนั้นเป็นหลัก

Foreign Policy Process : Capability Analysis

กระบวนการนโยบายต่างประเทศ : การวิเคราะห์ขีดความสามารถ

การตีค่าอย่างมีระบบโดยรัฐใดรัฐหนึ่ง ต่อขีดความสามารถของตนเอง ในทางทหาร การเมือง การทูต และเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ คือรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ก่อนที่จะดำเนินการริเริ่มในสิ่งที่ได้วางแผนไว้แล้วนั้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็จะต้องวิเคราะห์ขีดความสามารถ หรือศักยภาพทางอำนาจของรัฐตน ภายในกรอบของระบบระหว่างประเทศ และที่มีความสัมพันธ์กับรัฐต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้โดยตรง ปัจจัยหลักของอำนาจรัฐทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง อาจต้องเข้ามามีส่วนในการตัดสินความเป็นไปได้ของนโยบายด้วยก็ได้ การวิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมนั้น อาจจะรวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ ขนาด ที่ตั้ง ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ประชากร (ขนาด อายุ เพศ กำลังสำรอง) ทรัพยากรธรรมชาติ (วัตถุดิบต่าง ๆ) พลังทางเศรษฐกิจ(ผลผลิตทางเกษตรและทางอุตสาหกรรม) การบริหารการจัดการ (ธรรมชาติ และประสิทธิผลของกลไกรัฐบาล) และกำลังทหาร (ขนาด การจัด อุปกรณ์ การฝึก กำลังสำรอง) ส่วนปัจจัยที่เป็นนามธรรมนั้น (ยากที่จะประเมินยิ่งเสียกว่าปัจจัยทางรูปธรรม เพราะไม่สามารถประเมินค่าได้อย่างถูกต้อง) อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเรื่องต่าง ๆ อาทิ ลักษณะและขวัญของชาติ คุณภาพของการทูต สัมพันธภาพระหว่างผู้นำของรัฐต่าง ๆ และระดับปฏิกิริยาของรัฐต่าง ๆ

ความสำคัญ การวิเคราะห์ขีดความสามารถจะเกิดประสิทธิผลขึ้นมาได้นั้น ก็จะต้องอาศัยการประเมินค่าตามความเป็นจริงของความสามารถของรัฐที่จะให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีต่อรัฐอื่น ๆ ภายในบริบทของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ขีดความสามารถจะกำหนดตายตัวลงไปเลยไม่ได้ มักจะเป็นเรื่องที่โยงใยหรือเกี่ยวพันกับปฏิสัมพันธ์และขีดความสามารถของรัฐอื่น ๆ และก็ยังขึ้นอยู่กับกาลเวลาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของแนวป้องกันมาจิโนต์ของประเทศฝรั่งเศส แนวป้องกันนี้สามารถใช้เป็นแนวป้องกันฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1914 ได้ แต่พอถึงปี ค.ศ. 1940 ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ผิดยุคผิดสมัยไป ทำให้เกิดความผิดพลาดในการวิเคราะห์ขีดความสามารถของฝรั่งเศส และก็เป็นเหตุให้กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ ในการรบครั้งนั้นด้วย

Foreign Policy Process : Decision-makers

กระบวนนโยบายต่างประเทศ : ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ตัวบุคคลในแต่ละรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในการสร้างและดำเนินการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศ ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เป็นทางการ อาจจะได้รับอิทธิพล (ซึ่งบางทีก็ถึงขนาดเด็ดขาดเลยทีเดียว) จากเอกชนและกลุ่มเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือทำหน้าที่เป็นสมาชิกที่ไม่เป็นทางการของกลุ่ม”มือเก่า”ในชาตินี้ก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว มติของบุคคลชั้นแนวหน้าและของสาธารณชนทั่วไป ก็ยังอาจมีผลต่อปฏิบัติการทางนโยบายต่างประเทศ ด้วยการไปสร้างข้อจำกัดให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยให้การสนับสนุนในนโยบายบางอย่างและให้การปฏิเสธในนโยบายบางอย่าง ในรัฐส่วนใหญ่นั้น ตัวประมุขรัฐบาล (อาจจะเป็นประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี) จะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ แต่ในบางรัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดอาจจะได้แก่หัวหน้าพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่กุมอำนาจในรัฐ ตัวอย่างเช่นในประเทศที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ หรืออาจจะเป็นผู้เผด็จการหรือคณะผู้เผด็จการ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีตำแหน่งเป็นทางการ แต่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ในรัฐที่มีการปกครองตามแบบฟัสซิสต์ บุคคลอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงในรัฐส่วนใหญ่ ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า minister of foreign affairs หรือ secretary of state) ตลอดถึงคณะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อยู่ภายใต้การชี้นำของตัวรัฐมนตรีในกระทรวงการต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจนนายทหารในระดับสูง ก็ล้วนมีส่วนในการตัดสินใจ สำหรับในรัฐที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่นั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติคนสำคัญ ๆ ของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมาก หรือของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมีบทบาทในการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศนี้ด้วยเหมือนกัน ส่วนในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองอื่น ๆ อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายต่างประเทศนี้ด้วย

ความสำคัญ ถึงแม้รัฐต่าง ๆ จะเป็นตัวแสดงในทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ความจริงแล้วตัวมนุษย์เรานี่แหละมีบทบาทเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งทำหน้าที่กระทำหรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าจากสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ ตัวบุคคลธรรมดานี่แหละหาใช่สิ่งที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่ารัฐไม่ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำจำกัดความและตีความแนวความคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินี้ เป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์ เป็นผู้รับรู้ประเด็นต่าง ๆ เป็นผู้ทำการวินิจฉัยให้มีการปฏิบัติการ และเป็นผู้ทำการประเมินผลปฏิบัติการทุกอย่างที่ได้กระทำลงไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งนี้เพราะบุคคลเรามีแนวโน้มที่จะกระทำและมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าอย่างเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลในคณะรัฐบาลก็อาจจะส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางแบบใหม่ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหานโยบายต่างประเทศก็ได้ อย่างไรก็ดี ในหมู่รัฐต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่มีอำนาจเป็นทางการที่จะตัดสินใจแต่มิได้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริงนั้น การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือในตัวเจ้าหน้าที่ใด ๆ อาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจในนโยบายก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งปวง ในเวลาที่ปฏิบัติการต่าง ๆ จะถูกวางเงื่อนไขและถูกจำกัดโดยสภาวะแวดล้อมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวพันกับการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่โยงใยถึงกระบวนการในการในการตัดสินใจต่าง ๆ นั้น

Foreign Policy Process : Intelligence

กระบวนการนโยบายต่างประเทศ : ข่าวกรอง

ข่าวสารที่รัฐบาลหนึ่งทำการรวบรวมเกี่ยวกับขีดความสามารถและแผนของอีกรัฐหนึ่ง ข่าวกรองทางด้านการทหารหรือทางด้านยุทธศาสตร์ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้นหากำลังและสถานที่ตั้งของกองกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ อาวุธแบบใหม่และการพัฒนาอาวุธ ขวัญของกองทัพและคุณภาพในการรบ แผนทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี พันธมิตรและข้อตกลงลับ ท่าทีและขวัญของพลเรือน ในขณะเดียวกันจะมีหน่วยต่อต้านข่าวกรองทำหน้าที่ค้นหาหน่วยจารกรรมที่เข้ามาดำเนินการหาข่าวกรองทางทหารให้แก่ชาติอื่น นอกจากนี้แล้ว รัฐส่วนใหญ่ก็จะพยายามหาข่าวกรองที่ไม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ แต่เป็นการหาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเมือง การทูต เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อนำไปช่วยให้รัฐบาลของตนดำเนินการเพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ข่าวกรองส่วนใหญ่จะได้มาโดยทางเปิดเผยโดยผ่านการวิเคราะห์จากเอกสารทางการข่าวสารและแหล่งข้อมูลของเอกชน แต่ถ้าเป็นข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ก็มักจะได้มาโดยวิธีการทำ "จารกรรม" อย่างไรก็ตาม การทำจารกรรมในทุกวันนี้สามารถกระทำได้สำเร็จจากที่ที่ห่างไกลมาก ๆ โดยใช้ดาวเทียมและเครื่องบินที่ติดตั้งเรดาร์และอุปกรณ์ถ่ายภาพชนิดพิเศษ บินขึ้นไปปฏิบัติการในน่านฟ้าของมิตรประเทศหรือประเทศเป็นกลาง

ความสำคัญ ชาติต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติการรวบรวมข่าวกรองอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกิจกรรมและแผนของประเทศต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมิตร เป็นพันธมิตร และแม้กระทั่งประเทศที่มีศักยภาพเป็นศัตรู ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐได้มอบหมายให้หน่วยงานทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนรวมกันอย่างน้อย 9 หน่วยงานทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการข่าวกรองที่สำคัญ ๆ และในขณะเดียวกันก็ยังได้ใช้หน่วยงานอื่น ๆ มาทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในงานนี้อีกด้วย งานการข่าวกรองแบบเปิดเผยและแบบที่กระทำกันอย่างลับ ๆ มีไม่น้อยที่ดำเนินการโดยผู้แทนทางการทูตและเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และผู้ช่วยทูตด้านอื่น ๆ ยิ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาในเทคโนโลยีการสงครามก้าวไปไกลมาก ก็ยิ่งมีความจำเป็นในการหาข้อมูลสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติต่าง ๆ เมื่อหน่วยข่าวกรองประสบความล้มเหลวในการหาข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งหมายและแผนทางยุทธศาสตร์ของชาติที่มีศักยภาพเป็นศัตรู ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการพ่ายแพ้อย่างยับเยินได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี ค.ศ. 1967 การโจมตีของอิสราเอลต่อสาธารณรัฐอาหรับในแบบจู่โจมโดยไม่ทันให้รู้เนื้อรู้ตัว ได้ทำลายเครื่องบินรบของอียิปต์ที่จอดอยู่ที่สนามบินเสียหายไปมากมาย ส่งผลให้อิสราเอลได้เปรียบสาธารณรัฐอาหรับทางด้านการรบทางอากาศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนการโจมตีของอาหรับต่ออิสราเอลในลักษณะจู่โจมโดยไม่ทันให้รู้เนื้อรู้ตัวอีกเหมือนกันเมื่อปี ค.ศ. 1973 ก็ได้ทำให้ฝ่ายอาหรับประสบความสำเร็จทางการทหารในช่วงต้น ๆ ของการรบ การประเมินสถานการณ์ต่างประเทศที่ผิดพลาด (อย่างเช่นในกรณีที่สหรัฐตั้งข้อสมมติฐานว่าการโจมตีคิวบาที่เบย์ออฟพิกส์เมื่อปี ค.ศ. 1967 จะทำให้คนคิวบาลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลคิวบา) ก็อาจทำให้ผลประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติตกอยู่ในอันตรายได้เหมือนกัน อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เมื่อปี ค.ศ. 1979 ความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯในการคาดการณ์เรื่องการปฏิวัติในอิหร่าน ก็ได้ส่งผลให้มีการจับตัวเจ้าหน้าที่ทางการทูตสหรัฐฯหลายคนเป็นตัวประกัน

Foreign Policy Process : National Style

กระบวนการนโยบายต่างประเทศ : แบบแผนแห่งชาติ

แบบแผนทางพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของรัฐ เมื่อพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ แบบแผนแห่งชาตินี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งหล่อหลอมมาจากค่านิยมทางอุดมการณ์ จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน จากจารีตประเพณี และจากสิ่งที่เคยปฏิบัติตาม ๆ กันมา ด้วยเหตุนี้ ในประเทศที่เกิดมานานแล้วการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลจะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนววิธีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศในลักษณะรุนแรง อย่างไรก็ดี อาจจะมีการขวนขวายเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบแผนแห่งชาตินี้ขึ้นมาอย่างเปิดเผยก็ได้ อย่างเช่นที่เกิดในประเทศฝรั่งเศส ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้านั้น ประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอโกลล์ ได้ใช้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารของตน ทำการลดบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติที่เคยโดดเด่นในวิถีชีวิตแห่งชาติฝรั่งเศส สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย แบบแผนแห่งชาตินี้จะถูกสร้างขึ้นมาแล้วค่อยวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ

ความสำคัญ การเข้าใจแบบแผนแห่งชาติของประเทศอื่นนั้น อาจจะช่วยเป็นแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศนั้นได้ อย่างไรก็ดี การที่ประเทศหนึ่งประเทศใดมีแบบแผนแห่งชาติที่เป็นเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะตัวแล้วนั้น ก็มิได้เป็นหลักประกันว่า ประเทศนั้นจะต้องทำอะไรตามแบบนั้นเสมอไป ปัจจัยทางสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะนั้น อาจจะมีลักษณะคล้ายกันเท่านั้นเอง แต่จะไม่เหมือนกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ในเรื่องทางการทูตที่ตัวแปรต่าง ๆ ไม่สามารถควบคุมด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้นั้น ก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องแนวทางการกระทำ และปฏิกิริยาที่เคยมีมาในอดีตของรัฐต่าง ๆ เสียเลย

Fourth World

โลกที่สี่

เป็นชื่อที่องค์การสหประชาชาติใช้เรียกกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือพัฒนาน้อยที่สุด (แอลดีซี) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษทั้งในด้านการให้ความช่วยเหลือและในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ประชากรจำนวนมากของประเทศกลุ่มโลกที่สี่นี้จะดำรงชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกระบุไว้ว่าอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับต่ำมากเพียงแค่จัดหาปัจจัยในการดำรงชีพ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่พักอาศัยได้เท่านั้นเอง ในขณะที่รัฐในกลุ่มโลกที่สามหลายรัฐได้แสดงตัวออกมาว่ามีความเจริญเติบโตและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ นั้น กลุ่มประเทศโลกที่สี่นี้กลับตกอยู่ในสภาวะยากจนข้นแค้น และไม่สามารถจะพัฒนาทรัพยากรและศักยภาพทางเทคนิคเพื่อให้ถึงระดับมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่พอเพียงเลี้ยงตนเองได้ เมื่อการช่วยเหลือกันนิยมใช้แบบทวิภาคีมากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยเหลือกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกนี้เท่านั้นเช่นนี้ ก็เป็นการลดความช่วยเหลือที่เคยให้แก่ประเทศโลกที่สี่ เมื่อปี ค.ศ.1981 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมพิเศษเกี่ยวกับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (แอลดีซี)นี้ และได้มีการอภิปรายกันถึงวิธีที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้หลุดพ้นจากสภาวะยากจน ในวาระครบรอบทศวรรษการพัฒนาที่สาม สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนา ระหว่างประเทศแบบใหม่ (เอ็นไอดีเอส) และได้จัดตั้งโครงการ แผนปฏิบัติการใหม่ที่สำคัญ (เอสเอ็นพีเอ) สำหรับใช้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเหล่านี้ แผนปฏิบัติการเอสเอ็นพีเอนี้มุ่งที่จะให้ประเทศผู้ใจบุญทั้งหลายช่วยกันบริจาคเงินช่วยกลุ่มประเทศโลกที่สี่นี้เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ละ 0.15 เปอร์เซ็นต์

ความสำคัญ รัฐที่กำลังพัฒนาทั้งหลายได้เริ่มแตกคอกันในเรื่องประเด็นทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะได้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มประเทศโลกที่สามกับกลุ่มประเทศโลกที่สี่ กลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งและกลุ่มประเทศโลกที่สาม สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้หลายอย่าง เช่น ข้อตกลง Lome Convention ข้อตกลง Caribbean Basin Initiative ข้อตกลง Generalized System of Preferences ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้ได้ให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าของประเทศโลกที่สามสามารถเข้าไปขายในตลาดของกลุ่มประเทศตะวันตกได้ ในขณะเดียวกันนั้นสินค้าจากประเทศโลกที่สี่กลับถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปขายในตลาดของกลุ่มประเทศตะวันตก ในการจัดกลุ่มประเทศที่สหประชาชาติทำไว้นั้น กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด หรือกลุ่มประเทศโลกที่สี่นี้ ประกอบด้วย บังกลาเทศ เบนิน ภูฏาน บอสวานา บุรุนดี เคปเวอร์ดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชาด โคโมรอส แกมเบีย กินี ไฮติ เลโซโท มาลาวี มัลดีฟส์ มาลี เนปาล รวันดา โซมาเลีย ซูดาน ทานซาเนีย อูกานดา อัปเปอร์โวลตา ซามัวตะวันตก และสาธารณรัฐอาหรับเยเมน

Patterns of Power

แบบแห่งอำนาจ

มรรควิธีที่แต่ละรัฐจัดการและใช้อำนาจของตัวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และบรรลุถึงผลประโยชน์แห่งชาติในการแข่งขันกับรัฐอื่น ๆ แบบแห่งอำนาจนี้ ก็คือ เอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวในการตอบสนองของรัฐใดรัฐหนึ่งในระบบระหว่างประเทศ ที่เมื่ออำนาจของรัฐอื่นได้กลับกลายเป็นการคุกคามขึ้นมาแล้ว หรือมีศักยภาพที่จะคุกคามในอนาคต แบบแผนแห่งอำนาจมีดังนี้ คือ (1) ยึดการพึ่งตนเอง คือ มีอะไรก็พึ่งตนเองอย่างเดียว (2) เป็นพันธมิตร คือ มีการรวมกลุ่มอำนาจกันเพื่อนำมาคานกับอีกกลุ่มหนึ่ง(3) ความมั่นคงร่วมกัน เป็นการจัดระบบอำนาจแบบสากลโดยยึดหลัก "หน่วยย่อยเพื่อส่วนรวมทั้งหมด และส่วนรวมทั้งหมดเพื่อหน่วยย่อย" และ (4) รัฐบาลโลก - มีโครงสร้างแบบสหพันธ์สหกรณ์ หรือจักรวรรดิโลกที่ครอบงำโดยรัฐบาลเดียว

ความสำคัญ แบบแห่งอำนาจต่าง ๆ เป็นตัวเลือกสำหรับให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเลือกใช้ในระบบรัฐแบบที่ถือว่าการมีอำนาจอธิปไตยเป็นลักษณะสำคัญของรัฐ อำนาจอธิปไตยนี้ ก็คือ อำนาจของรัฐที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย และระบบรัฐที่จัดโดยอิงอาศัยหลักการมีอธิปไตยของรัฐอย่างเช่นที่ว่านี้ จะมีลักษณะการกระจายอำนาจระหว่างรัฐต่าง ๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้แต่ละรัฐสามารถเป็นตัวคุกคามต่อรัฐอื่นได้ทุกรัฐ ดังนั้นแต่ละรัฐก็จะต้องใช้อำนาจของตนเพื่อต้านทานศักยภาพการคุกคามนี้โดยการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่อิงอาศัยแบบแห่งอำนาจข้างต้นอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ส่วนการที่รัฐจะเลือกใช้แบบแห่งอำนาจชนิดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นมีการกำหนดผลประโยชน์ของตนไว้อย่างไร มีการรับรู้ผลประโยชน์ของรัฐอื่นไว้อย่างไร และมีการประเมินอำนาจของตนโดยการเปรียบเทียบกับอำนาจของรัฐอื่นไว้ในห้วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์เดียวกันนั้นไว้อย่างไรบ้าง เมื่อมีการเลือกแบบแห่งอำนาจชนิดที่ยึดการพึ่งตนเอง หรือชนิดที่ยึดการเป็นพันธมิตร ก็หมายความว่า เป็นการตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายภายในระบบรัฐที่มีมาแต่เดิม แต่ถ้าเลือกเอาแบบแห่งอำนาจชนิดที่ยึดความมั่นคงร่วมกัน หรือชนิดรัฐบาลโลก ก็บ่งบอกได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่จะแสวงหาความมั่นคงโดยการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสองแบบหลังนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็จะต้องมีการลดหรือกำจัดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ

Patterns of Power : Alliances

แบบแห่งอำนาจ : พันธมิตร

รูปแบบแห่งอำนาจที่รัฐแสวงหาความมั่นคงและโอกาสที่จะส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ โดยการเชื่อมโยงอำนาจของตนกับอำนาจของรัฐอื่นเพียงรัฐเดียวหรือมากกว่า ซึ่งมีผลประโยชน์คล้าย ๆ กันให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน หากเป็นแบบรวมตัวกันเป็นพันธมิตรนี้ก็หมายความว่าเป็นการตัดสินใจของรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงหรือรักษาดุลอำนาจในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก เมื่อรัฐหนึ่งเลือกทำแบบนี้ รัฐอื่น ๆ ก็จะหันมาเลือกใช้รูปแบบอำนาจแบบเป็นพันธมิตรอีกเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปแบบแห่งอำนาจแบบพันธมิตรนี้ จึงเป็นลักษณะเฉพาะตัวของการรวมตัวเป็นค่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน เป็นแบบแห่งอำนาจที่มักเกิดขึ้นด้วยการทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ แต่ที่ทำในรูปของการทำการเข้าใจกันหรือข้อตกลงที่เป็นทางการน้อยกว่าก็มีอีกเหมือนกัน

ความสำคัญ แบบแห่งอำนาจที่กระทำกันในรูปพันธมิตรนี้เป็นเทคนิควิธีที่ในยุคปัจจุบันนี้นิยมนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นวิธีที่รัฐต่าง ๆ เสริมสร้างอำนาจแห่งชาติตน เพื่อดำรงรักษาผลประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติตนไว้ แต่ก็มีนักวิจารณ์บางคน อย่างเช่น ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้วิจารณ์ไว้ว่า การสร้างดุลอำนาจโดยวิธีเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารนี้ จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสร้างพันธมิตรขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดสงคราม และในที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้มักจะอธิบายกันว่าเป็นวังวนของความมั่นคง-ไม่มั่นคง กล่าวคือ เมื่อรัฐหนึ่งเสริมสร้างความมั่นคงของตนด้วยการรวมตัวเป็นพันธมิตรกับรัฐอื่น ความมั่นคงของอีกรัฐหนึ่งก็จะอ่อนแอลง จึงนำไปสู่ความพยายามของรัฐหลังนี้ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงของฝ่ายตนบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เกิดวังวนของความตึงเครียดวนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ แต่ในยุคนิวเคลียร์อย่างเช่นทุกวันนี้ เราเรียกแบบแห่งอำนาจในรูปของพันธมิตรนี้ว่า "ดุลการคุกคาม" อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่แบบแห่งอำนาจในรูปของพันธมิตรนี้ ก็ยังมีรัฐต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ เนื่องจาก (1) มีข้อจำกัดในการใช้แบบแห่งอำนาจในรูปการพึ่งตนเอง ในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ (2) เกิดความล้มเหลวในระบบรัฐที่จะสร้างเงื่อนไขสำคัญเพื่อให้ระบบความมั่นคงร่วมกันหรือระบบสหกรณ์ของรัฐบาลโลกสามารถปฏิบัติการได้ในระดับสากล และ (3) มีอันตรายจากการที่รัฐหนึ่งรัฐใดจะใช้กำลังครอบงำโลก

Patterns of Power : Alliances

แบบแห่งอำนาจ : พันธมิตร

รูปแบบแห่งอำนาจที่รัฐแสวงหาความมั่นคงและโอกาสที่จะส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ โดยการเชื่อมโยงอำนาจของตนกับอำนาจของรัฐอื่นเพียงรัฐเดียวหรือมากกว่า ซึ่งมีผลประโยชน์คล้าย ๆ กันให้เข้ามาอยู่ด้วยกัน หากเป็นแบบรวมตัวกันเป็นพันธมิตรนี้ก็หมายความว่าเป็นการตัดสินใจของรัฐที่จะเปลี่ยนแปลงหรือรักษาดุลอำนาจในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก เมื่อรัฐหนึ่งเลือกทำแบบนี้ รัฐอื่น ๆ ก็จะหันมาเลือกใช้รูปแบบอำนาจแบบเป็นพันธมิตรอีกเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปแบบแห่งอำนาจแบบพันธมิตรนี้ จึงเป็นลักษณะเฉพาะตัวของการรวมตัวเป็นค่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน เป็นแบบแห่งอำนาจที่มักเกิดขึ้นด้วยการทำสัญญาเป็นพันธมิตรกันอย่างเป็นทางการ แต่ที่ทำในรูปของการทำการเข้าใจกันหรือข้อตกลงที่เป็นทางการน้อยกว่าก็มีอีกเหมือนกัน

ความสำคัญ แบบแห่งอำนาจที่กระทำกันในรูปพันธมิตรนี้เป็นเทคนิควิธีที่ในยุคปัจจุบันนี้นิยมนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เป็นวิธีที่รัฐต่าง ๆ เสริมสร้างอำนาจแห่งชาติตน เพื่อดำรงรักษาผลประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติตนไว้ แต่ก็มีนักวิจารณ์บางคน อย่างเช่น ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้วิจารณ์ไว้ว่า การสร้างดุลอำนาจโดยวิธีเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารนี้ จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสร้างพันธมิตรขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดสงคราม และในที่สุดก็จะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้มักจะอธิบายกันว่าเป็นวังวนของความมั่นคง-ไม่มั่นคง กล่าวคือ เมื่อรัฐหนึ่งเสริมสร้างความมั่นคงของตนด้วยการรวมตัวเป็นพันธมิตรกับรัฐอื่น ความมั่นคงของอีกรัฐหนึ่งก็จะอ่อนแอลง จึงนำไปสู่ความพยายามของรัฐหลังนี้ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงของฝ่ายตนบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เกิดวังวนของความตึงเครียดวนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ แต่ในยุคนิวเคลียร์อย่างเช่นทุกวันนี้ เราเรียกแบบแห่งอำนาจในรูปของพันธมิตรนี้ว่า "ดุลการคุกคาม" อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่แบบแห่งอำนาจในรูปของพันธมิตรนี้ ก็ยังมีรัฐต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ เนื่องจาก (1) มีข้อจำกัดในการใช้แบบแห่งอำนาจในรูปการพึ่งตนเอง ในยุคที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ (2) เกิดความล้มเหลวในระบบรัฐที่จะสร้างเงื่อนไขสำคัญเพื่อให้ระบบความมั่นคงร่วมกันหรือระบบสหกรณ์ของรัฐบาลโลกสามารถปฏิบัติการได้ในระดับสากล และ (3) มีอันตรายจากการที่รัฐหนึ่งรัฐใดจะใช้กำลังครอบงำโลก

Patterns of Power : Collective Security

แบบแห่งอำนาจ : ความมั่นคงร่วมกัน

ระบบอำนาจที่รัฐแต่ละรัฐในโลกจะให้หลักประกันในความมั่นคงและเอกราชของรัฐอื่นทุกรัฐ กุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่แบบแห่งอำนาจชนิดความมั่นคงร่วมกันนี้ ก็คือ จะต้องให้รัฐต่าง ๆ มีส่วนร่วมและมีพันธกรณีร่วมกันอย่างกว้างขวาง ภายใต้เงื่อนไขข้างต้นนี้ ชาติที่ก้าวร้าวก็จะต้องเผชิญกับการร่วมกันต่อต้านจากทุก ๆ ชาติในชุมชนระหว่างประเทศ ข้อสมมติฐานขั้นพื้นฐานนี้ ได้มีการเขียนไว้ในกติกาแห่งสันนิบาตชาติ และในกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ นับเป็นความพยายามที่ผ่านมาแล้วเพียงสองครั้งเท่านั้นที่จะสร้างระบบการทำงานของความมั่นคงร่วมกัน คำว่า "ความมั่นคงร่วมกัน" นี้บางทีก็ใช้กันอย่างผิด ๆ เมื่อพูดถึงการตกลงทางความมั่นคงในระดับภูมิภาคหรือในการรวมกลุ่มความมั่นคงของแต่ละฝ่ายในสงครามเย็น การรวมกลุ่มกันเป็นสนธิสัญญานาโต กติกาสัญญาวอร์ซอ และกติกาสัญญาริโอ เป็นต้น มักจะอ้างกันว่าเป็นการรวมกลุ่มความมั่นคงร่วมกันในระดับภูมิภาค ทั้งนี้เพราะการรวมกลุ่มแบบนี้ไม่เพียงแต่จะได้รับอนุญาตให้สามารถกระทำได้จากกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ยังเป็นการรวมกลุ่มที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการชี้นำของสหประชาชาติได้อีกด้วย แต่ทว่าแนวความคิดในการจัดรวมกลุ่มความมั่นคงระดับภูมิภาคเช่นว่านี้ เป็นการขัดกับหลักการความมั่นคงร่วมกันในความหมายแท้ ๆ เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่าจะต้องกระจายไปทั่วในระดับสากล องค์การระดับภูมิภาคเหล่านี้จึงเป็นตัวอย่างของแบบแผนแห่งอำนาจในลักษณะร่วมกันเป็นพันธมิตร หาได้เป็นแบบแผนแห่งอำนาจในลักษณะของความมั่นคงร่วมกันไม่

ความสำคัญ ว่ากันจริง ๆ แล้ว ความมั่นคงร่วมกันนี้เป็นแบบแผนแห่งอำนาจได้แต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น ในฐานะที่เป็นทฤษฎีนี่เอง จึงได้เป็นที่สนใจของบรรดารัฐบุรุษและมวลปราชญ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ความจริงแล้วระบบความมั่นคงร่วมกันนี้ไม่เคยทำงานอย่างมีประสิทธิผลอะไรเลย ระบบความมั่นคงร่วมกันในองค์การสันนิบาตชาติก็ได้ขาดเงื่อนไขสำคัญคือความเป็นสากลที่แท้ แม้แต่หมู่มหาอำนาจเองก็มิได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกันในขณะเดียวกัน ส่วนในระบบสหประชาชาติตอนนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่มหาอำนาจ เกี่ยวกับสถานภาพเดิมที่ระบบนี้ต้องการจะดำรงไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ อุดมคติเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกันนี้ จึงได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อเจ้อ เลื่อนลอย ได้แต่พูด ๆ กันเท่านั้นเอง รัฐต่าง ๆ ยังคงต้องอิงอาศัยความมั่นคงของตนโดยผ่านทางความช่วยเหลือตนเองและความเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างดุลอำนาจขึ้นมา

Patterns of Power : Unilateralism

แบบแห่งอำนาจ : ลัทธิการพึ่งพาตนเอง

นโยบายที่รัฐพึ่งพาแต่เพียงทรัพยากรของตนเพื่อความมั่นคง และเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์แห่งชาติ การพึ่งพาตนเองนี้สามารถทำได้ในหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่ง ก็คือ ยึดนโยบายแยกตัวอยู่โดยโดดเดี่ยวแบบเดิม หรือนโยบายแยกตัวอยู่โดยโดดเดี่ยวแบบใหม่ ซึ่งก็หมายความถึงการตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะเข้าร่วมบ้างก็จะทำในลักษณะที่จำกัดจำเขี่ยจริง ๆ หรือไม่เช่นนั้นก็อาจดำเนินนโยบายเป็นกลาง ซึ่งก็หมายถึงการละทิ้งทางเลือกที่จะเข้าร่วมทางการทหารในกิจการระหว่างประเทศ นโยบายเป็นกลางนี้อาจจะละทิ้งทางเลือกในการเข้าร่วมทางการทหารในกิจการระหว่างประเทศ เว้นเสียแต่ว่าจะถูกโจมตี อาจดำเนินนโยบายนี้โดยพลการของตนเอง หรือโดยสนธิสัญญาก็ได้ รัฐต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการเมืองระหว่างปะเทศแต่ยังพึ่งพาสติปัญญาและพลังความสามารถของตนเองอยู่ต่อไป ก็อาจจะเรียกได้ว่ายังยึดนโยบายพึ่งพาตนเองนี้อยู่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้แล้วรัฐก็อาจจะยึดโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ก็คือการไม่นำพาตนเองเข้าไปพัวพันกับผลประโยชน์ของมหาอำนาจหนึ่งใด ซึ่งเป็นนโยบายที่ปัจจุบันนิยมกันมากในหมู่ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย

ความสำคัญ ลัทธิหรือนโยบายพึ่งพาตนเองนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นแบบแผนแห่งอำนาจที่นิยมกันมาก แต่ปัจจุบันเป็นโยบายที่เริ่มจะดำเนินได้ยากขึ้น ในทางประวัติศาสตร์ รัฐที่สามารถดำเนินนโยบายพึ่งตนเองได้ตลอดรอดฝั่ง ก็ต้องมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย คือ ตั้งอยู่ในที่ห่างไกลยากที่จะเข้าไปถึงได้ด้วยระบบการขนส่ง การคมนาคม และเทคโนโลยีทางทหารที่มีอยู่ในสมัยนั้น ๆ ตัวอย่างของรัฐเช่นนี้ ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์เทคโนโลยี–ภูมิศาสตร์อย่างที่ว่านั้นมาเป็นเวลานาน ส่วนรัฐต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรปมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างนั้น แต่ในอดีตได้ใช้วิธีเข้าร่วมกลุ่มเป็นพันธมิตรเป็นการชั่วคราว หรือในยามฉุกเฉินเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะเทคโนโลยีทางทหารที่มีใช้อยู่ในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ทำให้มีเวลาเตรียมการหลังจากที่ภัยคุกคามได้เกิดขึ้นแล้ว หรือแม้จะเป็นช่วงหลังจากสงครามเกิดขึ้นมาแล้วก็ยังพอเตรียมตัวทันอยู่ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการปฏิวัติทางด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขึ้นมาแล้ว นโยบายการพึ่งพาตนเองนี้ก็ได้ลดความสำคัญที่จะนำมาใช้เสริมสร้างความมั่นคงและเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติ ยิ่งเมื่อได้มีการพัฒนาทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น กับมีการพัฒนาเครื่องบินและจรวดขึ้นมาใช้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้รัฐต่าง ๆ อยู่ใกล้กันแค่เอื้อมเท่านั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความห่างไกลกันมิได้ช่วยปกป้องให้แก่รัฐใดอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้แล้ว วิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ และทำให้อำนาจการทำลายล้างของอาวุธยุทโธปกรณ์และการสงครามในปัจจุบันนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกินกว่าที่รัฐต่าง ๆ จะกล้าเสี่ยงที่จะยึดแนวนโยบายการพึ่งตนเองโดยไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากที่อื่น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ การอิงนโยบายการพึ่งตนเอง จึงได้เสื่อมความนิยมลงไป และรัฐต่าง ๆ ได้เข้าไปอิงระบบความมั่นคงในระดับภูมิภาค โดยการรวมตัวเป็นพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น

Patterns of Power : World Government

แบบแผนแห่งอำนาจ : รัฐบาลโลก

การรวมศูนย์การผูกขาดกำลังและอำนาจในการสร้างนโยบายเพื่อบังคับใช้กับรัฐและประชากรในรัฐต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ในศูนย์กลางอำนาจเหนือชาติเพียงศูนย์เดียว การจะเป็นรัฐบาลโลกอย่างนี้ได้นั้น มีเงื่อนไขว่ารัฐต่าง ๆ จะต้องยอมสละอำนาจอธิปไตยที่ตนมีอยู่ให้แก่รัฐบาลโลก ในทางทฤษฎีนั้น เป็นไปได้ที่จะสร้างรัฐเหนือชาติเช่นว่านี้ ด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม หรือโดยวิธีสหกรณ์ จักรวรรดิโรมันในสมัยโบราณเป็นตัวอย่างในทางประวัติศาสตร์ แสดงถึงความพยายามที่ประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐบาลโลกด้วยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ต่อมาก็เคยมีความพยายามที่จะพิชิตโลกโดยจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์แห่งเยอรมนี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกรณีของจักรวรรดิโรมันในอดีต สำหรับการสถาปนารัฐบาลโลกขึ้นมาโดยความร่วมมือระหว่างประเทศโดยสันตินั้น ยังไม่เคยมีใครพยายามทำมาก่อน

ความสำคัญ แบบแผนแห่งอำนาจในรูปของการสถาปนารัฐบาลโลกขึ้นมานี้ จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องอำนาจระหว่างประเทศได้ คือจะไปกำจัดระบบรัฐที่ยึดหลักว่าแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยนี้ได้ แต่ในยุคปรมาณูอย่างเช่นทุกวันนี้ หากจะมีความพยายามใด ๆ ที่จะสร้างรัฐบาลโลกขึ้นมาโดยวิธีการใช้กำลังบังคับ ก็คงจะต้องมีการใช้อาวุธมหาประลัยนิวเคลียร์ประหัตประหารกันวินาศย่อยยับเป็นแน่ จึงต้องหาทางเลือกใหม่ คือ กระทำในรูปของสมาพันธ์โลก ซึ่งก็มีข้อแนะนำว่า ควรจะเปลี่ยนแปลงสหประชาชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้แหละไปเป็นรัฐบาลโลกเสียเลย แต่ข้อเสนอแนะนี้บ่งบอกว่า คนเสนอแนะยังขาดความเข้าใจในลักษณะขององค์การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติมีลักษณะเป็นสมาพันธ์ซึ่งมีการมอบอำนาจอย่างจำกัดให้แก่ศูนย์รวมอำนาจก็จริง แต่อำนาจอธิปไตยก็ยังคงอยู่กับรัฐสมาชิกแต่รัฐอยู่ต่อไป แต่ถ้าหากเป็นรูปสมาพันธ์แท้ ๆ นั้น อำนาจอธิปไตยจะต้องไปอยู่กับศูนย์รวมอำนาจแห่งเดียวเท่านั้น หน่วยย่อย ๆ แต่ละหน่วยจะตกอยู่ภายใต้การบงการของศูนย์รวมอำนาจหนึ่งเดียวนั้น แต่ด้วยเหตุที่รัฐต่าง ๆ ในชุมชนระหว่างประเทศยังไม่เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับค่านิยมขั้นพื้นฐานนี้ ดังนั้นรัฐต่าง ๆ ในโลกจึงไม่ต้องการสละอำนาจอธิปไตยนี้ ถึงแม้จะเขียนรัฐธรรมนูญโลกขึ้นมาก็จะไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นมา เพราะรัฐธรรมนูญไม่สามารถสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐต่าง ๆ ได้ เป็นเพียงผลผลิตของความไว้วางใจเท่านั้น และมีผู้เสนอแนะว่ารัฐบาลโลกที่ต้องการนี้อาจจะเกิดขึ้นมาโดยวิวัฒนาการขยายตัวจากข้อตกลงต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค ทั้งนี้อาจจะอิงแม่แบบของประชาคมยุโรปนั้นก็ได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ จะเกิดเป็นรัฐที่ให้ความร่วมมือกันในระดับโลกได้นั้น รัฐต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกัน จะต้องเห็นพ้องต้องกันในนิยามของผลประโยชนร่วมกันให้ได้เสียก่อน และจะต้องให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาด้วยว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศนี้มีความสำคัญยิ่งยวดกว่าความจงรักภักดีของแต่ละชาติ

Power

อำนาจ

อิทธิพลและการควบคุมที่ชาติหนึ่งแสดงออกมาต่ออีกชาติหนึ่ง อำนาจนี้จะเป็นทั้งมรรควิธีที่รัฐต่าง ๆ ต้องใช้และเป็นเป้าหมายที่รัฐต่าง ๆ ต้องการจะบรรลุถึงด้วย ในการแข่งขันในทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคมกับรัฐอื่น ถึงแม้ว่าการกระทำหรือพฤติกรรมทุกอย่างของรัฐไม่จำเป็นว่าจะต้องมีแรงกระตุ้นมาจากเรื่องของอำนาจนี้เสมอไปก็ตาม แต่ทว่าพฤติกรรมหรือการกระทำของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมหรือการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ จะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งอยู่กับการเมืองเรื่องอำนาจนี้ การใช้และการแสวงหาอำนาจนี้จะดำเนินการโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นผู้ใช้กลไกของรัฐบาลของตนไปเพื่อพัฒนาและดำเนินนโยบายต่างประเทศนั่นเอง ดังนั้น อำนาจทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัมพันธภาพทางจิตวิทยาระหว่างบุคคลชั้นผู้นำซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนี้กับบุคคลที่ได้รับอิทธิพลหรือถูกควบคุมโดยอำนาจนี้ การใช้อำนาจสามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบ เป็นต้นว่า การชักนำ การทำสงครามทางอุดมการณ์และจิตวิทยา การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การใช้ข้ออ้างทางศีลธรรม การแผ่ลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม การใช้มาตรการบีบบังคับที่ทางกฎหมายรับรองแต่ยังไม่ถึงขั้นทำสงคราม และสุดท้ายคือการทำสงคราม

ความสำคัญ การใช้อำนาจทางการเมืองนี้ เป็นลักษณะสำคัญของระบบรัฐ นับแต่ที่ได้เกิดแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยขึ้นมา พวกรัฐใหญ่ ๆ มักใช้และแสวงหาอำนาจบ่อยกว่าและมีประสิทธิผลกว่ารัฐ เล็ก ๆ แต่นโยบายจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของรัฐนั้น ๆ อีกทีหนึ่ง เมื่อรัฐหนึ่งรัฐใดแสวงหาอำนาจเพิ่มมากขึ้น ชาติต่าง ๆ ที่ถูกคุกคามหรือถูกกระทบโดยนโยบายเหล่านี้ ก็จะแสดงปฏิกิริยาออกมาโดยการเสริมสร้างอำนาจของตนเองขึ้นมาบ้าง ดังนั้น อำนาจของรัฐที่แสดงออกมาในลักษณะที่ก้าวร้าวมาก ๆ ก็จะถูกควบคุมโดยการเกิดอำนาจต้านทานของฝ่ายที่ถูกคุกคามนั้น ซึ่งก็จะส่งผลให้วิวัฒนาการไปเป็นดุลอำนาจได้เหมือนกัน นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่จะคอยช่วยขัดขวางมิให้มีการใช้อำนาจในระบบรัฐอื่น ๆ อีก คือ กฎหมายระหว่างประเทศ มติโลก ข้อตกลงในการลดกำลับรบและข้อตกลงในการควบคุมอาวุธ และข้อตกลงเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกัน อย่างเช่น ระบบของสหประชาชาติ เป็นต้น

Third World

โลกที่สาม

กลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โลกที่สามนี้แตกต่างจากโลกที่หนึ่ง (สหรัฐอเมริกา, พันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม) และโลกที่สอง (สหภาพโซเวียตและสมรรคพรรคพวกในยุโรปตะวันออก) ส่วนโลกที่สี่นั้น ทางองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ได้แก่ประเทศต่าง ๆ ที่มีรายได้รายหัวของประชากรต่อปีต่ำมาก กลุ่มประเทศโลกที่สามนี้ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในแถบแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา และแปซิฟิก

ความสำคัญ มีประเทศต่าง ๆ เกือบร้อยประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกันแล้วเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้เลยทีเดียว และต่างได้เอกราชมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมานี้เอง ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศยากจน มีความอ่อนแอ และไม่มีประสบการณ์มาก่อน ลักษณะสำคัญของประเทศเหล่านี้ ก็คือ เป็นประเทศที่ทำการผลิตสินค้าระดับปฐม และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ส่วนการเจริญเติบโตของประชากรในประเทศเหล่านี้ก็ล้ำหน้าการเจริญโตทางเศรษฐกิจ (วัดจากมาตรฐานการครองชีพของประเทศที่พัฒนาแล้ว) กลุ่มประเทศเหล่านี้ ซึ่งประกอบกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเรียกว่า "กลุ่ม จี-77" ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำการควบคุมระเบียบวาระการประชุมเพื่อให้สมัชชาใหญ่สนใจความต้องการและข้อเรียกร้องของกลุ่มตนให้มากยิ่งขึ้น กลุ่ม จี -77 นี้ซึ่งได้เริ่มจัดตั้งขึ้นมาในการประชุมครั้งแรกว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีทีเอดี) เมื่อปี ค.ศ. 1964 จนถึงวันนี้ได้มีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มจำนวนขึ้นมารวมเป็น 130 ชาติแล้ว และได้ประกอบกันเป็นกลุ่มกระบวนการทางการเมืองที่มีฉันทามติเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจของโลกต่าง ๆ

Third World : Nonaligned Movement (NAM)

โลกที่สาม : ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(นาม)

กลุ่มชาติต่าง ๆ กลุ่มใหญ่มาก (มีสมาชิกกว่า 100 ชาติเมื่อปี ค.ศ. 1987) ซึ่งได้ปฏิเสธการเข้าร่วมทางการเมืองและทางการทหารกับกลุ่มตะวันตกหรือกับกลุ่มสหภาพโซเวียต ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ได้เริ่มหยั่งรากลงที่เมืองบันดุง (ประเทศอินโดนีเซีย) โดยผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและแอฟริการวมกันถึง 25 ประเทศได้มาประชุมกันเมื่อปี ค.ศ. 1955 แล้วได้ประกาศตนเองว่า เป็นกลุ่มพลังที่ 3 ในกิจการโลก จอมพลโยซิบ บรอซ ตีโต แห่งยูโกสลาเวีย และนายกรัฐมนตรี บัณฑิต ยาวะหาร์ลาล เนห์รู แห่งอินเดีย ได้เป็นผู้นำของขบวนการที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ในการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่จัดขึ้นที่กรุงเบลเกรด (ประเทศยูโกสลาเวีย) เมื่อปี ค.ศ. 1967 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้ยอมรับคำจำกัดความของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ว่าประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะต้อง (1) ดำเนินนโยบายอิสระโดยตั้งอยู่บนรากฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (2) ไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารแบบพหุภาคีใด ๆ ... (3) ให้การสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยและเรียกร้องเอกราช และ(4) ไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารแบบทวิภาคีกับมหาอำนาจต่าง ๆ

ความสำคัญ ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการของชาติในโลกที่สาม ที่อยากจะอยู่ห่างจากความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ขบวนการนี้ในปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นรูปองค์การอย่างเป็นทางการแล้ว ในช่วงแรก ๆ ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ คือ ทำให้ประเทศที่เข้าไปอยู่ในขบวนการอยู่ในฐานะที่จะต่อรองขอความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่ายในสงครามเย็นได้ การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเคยจัดกันมาแล้วรวมทั้งหมด 8 ครั้ง คือ ที่เบลเกรด (ค.ศ. 1961) ไคโร (ค.ศ. 1964) ลูซากา (ค.ศ. 1970) แอลเจียร์ (ค.ศ.1973) โคลอมโบ (ค.ศ. 1976) ฮาวานา (ค.ศ. 1979) นิวเดลี (ค.ศ. 1982) และฮาราเร, ซิมบับเว(ค.ศ. 1986) แต่ก็ยังมีชาติที่กำลังพัฒนาในโลกที่สามอีกหลายชาติ ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าบางประเทศเหล่านี้ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับมหาอำนาจไปเสียแล้ว ส่วนบางประเทศที่ไม่ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ก็เนื่องจากเห็นว่ามีคุณค่าน้อยในการที่จะวางท่าทีเป็นกลางแบบนี้ ตามข้อตกลงที่ได้กระทำกัน ณ กรุงเบลเกรดเมื่อ ค.ศ. 1961 ระบุว่า การประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะจัดให้มีขึ้นในทุก 3 ปี ในการประชุมของกลุ่มฯ เมื่อ ค.ศ. 1986 มีผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มเข้าร่วมประชุมจำนวน 101 ชาติ ส่วนอีก 18 ชาติเป็นกลุ่มผู้สังเกตการณ์ หัวข้อสำคัญที่นำมาอภิปรายในที่ประชุม ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ มีการตอกย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่ต่อไป รวมทั้งมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าและการเงินกับชาติตะวันตก ประเทศเกาหลีเหนือได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกของขบวนการนี้ได้ แต่เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ถูกปฏิเสธไม่ยอมให้เป็นสมาชิก โดยอ้างว่าสองประเทศนี้ได้เข้าฝ่ายกับสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

Third World : North - South Relations

โลกที่สาม : ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้

สัมพันธภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ระหว่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว (ฝ่ายเหนือ) กับกลุ่มประเทศยากจนที่กำลังพัฒนา (ฝ่ายใต้) ที่ใช้คำว่าความสัมพันธ์ระหว่าง "ฝ่ายเหนือ - ฝ่ายใต้" นี้ก็เพราะประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ทางเหนือของกลุ่มประเทศโลกที่สามและกลุ่มประเทศโลกที่สี่ กลุ่มประเทศที่อยู่ฝ่ายใต้ส่วนใหญ่ ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ส่วนกลุ่มประเทศที่เป็นฝ่ายเหนือนั้น ก็คือ กลุ่มประเทศในแถบยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือจะพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ผ่านทางองค์การต่าง ๆ เช่น องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ซึ่งมีสมาชิกรวม 24 ชาติ ส่วนกลุ่มประเทศฝ่ายใต้ก็จะประสานนโยบายและพัฒนาแนวทางปฏิบัติร่วมกันเหมือนกัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วจะกระทำผ่านทางกลุ่มจี - 77 ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางสำหรับกลุ่มชาติฝ่ายใต้ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 130 ชาติ ในสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ และในองค์การสำคัญอื่น ๆ ความขัดแย้งในสงครามเย็นระหว่างฝ่ายตะวันออกกับฝ่ายตะวันตกที่เคยตึงตัวมาเป็นเวลานาน ก็ได้คลายตัวลงจนได้มีการเจรจระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1970 และทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้มีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นมามากนั่นเอง

ความสำคัญ กลุ่มฝ่ายเหนือได้มุ่งความสนใจส่วนใหญ่ไปที่จะทำให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้เหล่านี้ได้หลุดพ้นจากอิทธิพลของสหภาพโซเวียต และเปิดการค้าขายและการลงทุนให้แก่บริษัทเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ ส่วนกลุ่มฝ่ายใต้ก็ได้ทุ่มเทความสนใจมุ่งมั่นจะให้บรรลุถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความทันสมัยให้บังเกิดขึ้นมาให้ได้ ต้องการจะยุติลัทธิจักรวรรดินิยมทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ตลอดจนต้องการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ต้องการยุติการเลือกปฏิบัติอันสืบเนื่องมาจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศฝ่ายใต้นั้น กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือนิยมให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และทางด้านโครงสร้างระดับพื้นฐาน ส่วนในการพัฒนาแท้ ๆนั้น ก็นิยมปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ พวกบรรษัทข้ามชาติต่างๆ สำหรับกลุ่มประเทศฝ่ายใต้เอง นิยมรับเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้มีการค้าขายระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น และต้องการให้วัตถุดิบที่ตนส่งไปขายมีราคาสูงขึ้น เพื่อจะได้เงินทุนกลับมาสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตนต่อไป ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือนั้น กลุ่มประเทศฝ่ายใต้เหล่านี้ก็ได้ทำการรณรงค์ให้มีโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการทางด้านเศรษฐกิจของตนมากยิ่งขึ้น โครงการที่ได้รณรงค์ต่าง ๆ ได้แก่ (1) กองทุนสหประชาชาติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ(เอสยูเอ็นเอฟอีดี) ซึ่งได้เสนอในสหประชาชาติเพื่อให้มีการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น เพื่อที่กลุ่มประเทศฝ่ายใต้จะสามารถได้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า หรือได้เงินกู้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ (2) ให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(ยูเอ็นซีทีเอดี) เพื่อส่งเสริมการส่งสินค้าของประเทศกลุ่มฝ่ายใต้ไปขายแก่กลุ่มประเทศฝ่ายเหนือเพื่อให้สามารถมีเงินทุนกลับมาพัฒนาประเทศ (3) ให้มีการตั้งสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีเอ) โดยให้ขึ้นอยู่กับธนาคารโลกเพื่อให้เป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ประเภทปลอดดอกเบี้ยระยะยาว (ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ต้องคืนเงินต้นภายใน 50 ปี) และ (4) ให้มีการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่(เอ็นไออีโอ) แทนระบบเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะทำให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้สามารถได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรม และสามารถส่งสินค้าไปขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โครงการรณรงค์เหล่านี้ และโครงการอื่นที่มิได้กล่าวถึง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะปรับปรุงให้ประเทศกลุ่มฝ่ายใต้มีโอกาสที่จะพัฒนาและสร้างความทันสมัยให้เกิดขึ้นมาให้ได้นั้น ต่างก็มีอันต้องล้มเหลวไปตาม ๆ กัน เนื่องจากการปฏิเสธของกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือที่จะเข้ามามีส่วนร่วม หรือในกรณีจะมามีส่วนร่วมบ้างก็เป็นไปในลักษณะให้การสนับสนุนแบบไม่ค่อยจะเต็มใจนัก อย่างเช่นในกรณีของโครงการ เอสยูเอ็นเอฟอีดี นั้น หลังจากที่ได้ทำการรณรงค์อยู่หลายปี ในที่สุดกลุ่มประเทศฝ่ายใต้ก็สามารถครองเสียงส่วนใหญ่สองในสามในสมัชชาใหญ่ได้ กลุ่มประเทศฝ่ายใต้จึงได้ใช้อำนาจเสียงส่วนใหญ่นี้มาจัดตั้งกองทุนพัฒนาเงินทุนสหประชาชาติ (ยูเอ็นซีดีเอฟ)ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับโครงการเอสยูเอ็นเอฟอีดี เพื่อให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและให้เงินกู้ต่าง ๆ แต่ประเทศกลุ่มฝ่ายเหนือกลับปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ กรณีที่ยกมาแสดงเป็นตัวอย่างนี้ ส่อให้เห็นว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือกับกลุ่มประเทศฝ่ายใต้นี้ กลุ่มประเทศฝ่ายใต้สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ให้มาสนับสนุนกลุ่มตนได้สำเร็จ แต่ก็ขาดความสามารถที่จะบีบบังคับกลุ่มประเทศฝ่ายเหนือให้หันมาเคารพต่อเสียงส่วนใหญ่และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกลุ่มประเทศฝ่ายใต้นี้

Third World : Privatization

โลกที่สาม:การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจ (หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ)

แนวโน้มของกลุ่มประเทศโลกที่สามที่จะผละหนีจากลัทธิสังคมนิยม แล้วหันไปสู่การสนับสนุนภาคเอกชนในต่างประเทศและในประเทศให้มาลงทุน เพื่อเป็นหนทางให้บรรลุถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การให้เอกชนเข้ามามีส่วนของกลุ่มประเทศโลกที่สามนี้ เป็นนโยบายเชิงปฏิบัติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศตะวันตก การสร้างความดึงดูดใจให้เอกชนจากประเทศตะวันตกหันมาลงทุนในกลุ่มประเทศโลกที่สามดังที่ว่านี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์ขั้นพื้นฐานของรัฐต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม คือ แทนที่จะถือว่าการลงทุนจากต่างประเทศ เป็น "ลัทธิล่าอาณานิคม" และ "ลัทธิจักวรรดินิยมใหม่" ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ได้ทำการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้เอกชนจากต่างประเทศไม่มาลงทุนในประเทศของตนออกไปเสีย การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการรับรู้ในข้อเท็จจริงว่า ทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามายังพื้นที่และประเทศต่าง ๆ ที่เงินรายได้และการส่งผลกำไรจากการประกอบการกลับประเทศ มีการควบคุมน้อยที่สุด ในประเทศที่อยู่ในกลุ่มโลกที่สามบางประเทศ อย่างเช่น ที่ไนจีเรีย การดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจนี้ ได้เกิดขึ้นในรูปของการ “ลงทุนร่วมกัน" โดยให้มีการร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐบาลกับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างคือบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ

ความสำคัญ การดึงเอกชนเข้ามามีส่วนรวมในกระบวนการทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโลกที่สามนี้ เป็นผลผลิตของพลังทั้งภายนอกและภายใน ในทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งมีประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำทางด้านอุดมการณ์และทางด้านการเมือง ได้ทำการผลักดันให้มีระบบตลาดเสรีทั่วโลกสำหรับการค้าและการลงทุน รัฐต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งต่างก็ต้องการแสวงหาเงินทุนอยู่พอดี ก็ได้ปฏิบัติตามแนวความคิดของกลุ่มรัฐตะวันตก และได้เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายดั้งเดิมที่ให้รัฐควบคุมและดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของชาติเสียเองนั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกื้อหนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ก็คือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของหมู่ประเทศในกลุ่มโลกที่สามที่ได้ใช้นโยบายนี้สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเมื่อตอนแรก ๆ ก่อนหน้านี้ ตัวอย่างของความสำเร็จในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และบราซิล ปัจจุบัน ประเทศทางแอฟริกาส่วนใหญ่ต่างก็ได้ยอมรับสูตรสำเร็จทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี เรแกนนี้ด้วยการโอนกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐให้ไปเป็นของเอกชน และให้การสนับสนุนภาคเอกชนได้เข้ามาดำเนินการทางเศรษฐกิจและการลงทุน แม้แต่ประเทศจีนซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองประเทศตามระบบคอมมิวนิสต์ ก็ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการให้รัฐทำการควบคุมและปฏิบัติการเกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นแบบที่ให้เอกชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ใช้กำไรเป็นตัวกระตุ้น ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดในบางพื้นที่ และให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ