Google

Thursday, September 24, 2009

Third World : Nonaligned Movement (NAM)

โลกที่สาม : ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด(นาม)

กลุ่มชาติต่าง ๆ กลุ่มใหญ่มาก (มีสมาชิกกว่า 100 ชาติเมื่อปี ค.ศ. 1987) ซึ่งได้ปฏิเสธการเข้าร่วมทางการเมืองและทางการทหารกับกลุ่มตะวันตกหรือกับกลุ่มสหภาพโซเวียต ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ได้เริ่มหยั่งรากลงที่เมืองบันดุง (ประเทศอินโดนีเซีย) โดยผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและแอฟริการวมกันถึง 25 ประเทศได้มาประชุมกันเมื่อปี ค.ศ. 1955 แล้วได้ประกาศตนเองว่า เป็นกลุ่มพลังที่ 3 ในกิจการโลก จอมพลโยซิบ บรอซ ตีโต แห่งยูโกสลาเวีย และนายกรัฐมนตรี บัณฑิต ยาวะหาร์ลาล เนห์รู แห่งอินเดีย ได้เป็นผู้นำของขบวนการที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้ ในการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่จัดขึ้นที่กรุงเบลเกรด (ประเทศยูโกสลาเวีย) เมื่อปี ค.ศ. 1967 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้ยอมรับคำจำกัดความของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ว่าประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะต้อง (1) ดำเนินนโยบายอิสระโดยตั้งอยู่บนรากฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (2) ไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารแบบพหุภาคีใด ๆ ... (3) ให้การสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยและเรียกร้องเอกราช และ(4) ไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารแบบทวิภาคีกับมหาอำนาจต่าง ๆ

ความสำคัญ ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ ได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการของชาติในโลกที่สาม ที่อยากจะอยู่ห่างจากความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ขบวนการนี้ในปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นรูปองค์การอย่างเป็นทางการแล้ว ในช่วงแรก ๆ ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ คือ ทำให้ประเทศที่เข้าไปอยู่ในขบวนการอยู่ในฐานะที่จะต่อรองขอความช่วยเหลือจากทั้งสองฝ่ายในสงครามเย็นได้ การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเคยจัดกันมาแล้วรวมทั้งหมด 8 ครั้ง คือ ที่เบลเกรด (ค.ศ. 1961) ไคโร (ค.ศ. 1964) ลูซากา (ค.ศ. 1970) แอลเจียร์ (ค.ศ.1973) โคลอมโบ (ค.ศ. 1976) ฮาวานา (ค.ศ. 1979) นิวเดลี (ค.ศ. 1982) และฮาราเร, ซิมบับเว(ค.ศ. 1986) แต่ก็ยังมีชาติที่กำลังพัฒนาในโลกที่สามอีกหลายชาติ ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าบางประเทศเหล่านี้ ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับมหาอำนาจไปเสียแล้ว ส่วนบางประเทศที่ไม่ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ก็เนื่องจากเห็นว่ามีคุณค่าน้อยในการที่จะวางท่าทีเป็นกลางแบบนี้ ตามข้อตกลงที่ได้กระทำกัน ณ กรุงเบลเกรดเมื่อ ค.ศ. 1961 ระบุว่า การประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะจัดให้มีขึ้นในทุก 3 ปี ในการประชุมของกลุ่มฯ เมื่อ ค.ศ. 1986 มีผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มเข้าร่วมประชุมจำนวน 101 ชาติ ส่วนอีก 18 ชาติเป็นกลุ่มผู้สังเกตการณ์ หัวข้อสำคัญที่นำมาอภิปรายในที่ประชุม ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ มีการตอกย้ำถึงการยึดมั่นในหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอยู่ต่อไป รวมทั้งมีการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าและการเงินกับชาติตะวันตก ประเทศเกาหลีเหนือได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกของขบวนการนี้ได้ แต่เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ถูกปฏิเสธไม่ยอมให้เป็นสมาชิก โดยอ้างว่าสองประเทศนี้ได้เข้าฝ่ายกับสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

No comments:

Post a Comment