Google

Thursday, September 24, 2009

Patterns of Power

แบบแห่งอำนาจ

มรรควิธีที่แต่ละรัฐจัดการและใช้อำนาจของตัวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง และบรรลุถึงผลประโยชน์แห่งชาติในการแข่งขันกับรัฐอื่น ๆ แบบแห่งอำนาจนี้ ก็คือ เอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวในการตอบสนองของรัฐใดรัฐหนึ่งในระบบระหว่างประเทศ ที่เมื่ออำนาจของรัฐอื่นได้กลับกลายเป็นการคุกคามขึ้นมาแล้ว หรือมีศักยภาพที่จะคุกคามในอนาคต แบบแผนแห่งอำนาจมีดังนี้ คือ (1) ยึดการพึ่งตนเอง คือ มีอะไรก็พึ่งตนเองอย่างเดียว (2) เป็นพันธมิตร คือ มีการรวมกลุ่มอำนาจกันเพื่อนำมาคานกับอีกกลุ่มหนึ่ง(3) ความมั่นคงร่วมกัน เป็นการจัดระบบอำนาจแบบสากลโดยยึดหลัก "หน่วยย่อยเพื่อส่วนรวมทั้งหมด และส่วนรวมทั้งหมดเพื่อหน่วยย่อย" และ (4) รัฐบาลโลก - มีโครงสร้างแบบสหพันธ์สหกรณ์ หรือจักรวรรดิโลกที่ครอบงำโดยรัฐบาลเดียว

ความสำคัญ แบบแห่งอำนาจต่าง ๆ เป็นตัวเลือกสำหรับให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเลือกใช้ในระบบรัฐแบบที่ถือว่าการมีอำนาจอธิปไตยเป็นลักษณะสำคัญของรัฐ อำนาจอธิปไตยนี้ ก็คือ อำนาจของรัฐที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย และระบบรัฐที่จัดโดยอิงอาศัยหลักการมีอธิปไตยของรัฐอย่างเช่นที่ว่านี้ จะมีลักษณะการกระจายอำนาจระหว่างรัฐต่าง ๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้แต่ละรัฐสามารถเป็นตัวคุกคามต่อรัฐอื่นได้ทุกรัฐ ดังนั้นแต่ละรัฐก็จะต้องใช้อำนาจของตนเพื่อต้านทานศักยภาพการคุกคามนี้โดยการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่อิงอาศัยแบบแห่งอำนาจข้างต้นอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ส่วนการที่รัฐจะเลือกใช้แบบแห่งอำนาจชนิดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นมีการกำหนดผลประโยชน์ของตนไว้อย่างไร มีการรับรู้ผลประโยชน์ของรัฐอื่นไว้อย่างไร และมีการประเมินอำนาจของตนโดยการเปรียบเทียบกับอำนาจของรัฐอื่นไว้ในห้วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์เดียวกันนั้นไว้อย่างไรบ้าง เมื่อมีการเลือกแบบแห่งอำนาจชนิดที่ยึดการพึ่งตนเอง หรือชนิดที่ยึดการเป็นพันธมิตร ก็หมายความว่า เป็นการตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายภายในระบบรัฐที่มีมาแต่เดิม แต่ถ้าเลือกเอาแบบแห่งอำนาจชนิดที่ยึดความมั่นคงร่วมกัน หรือชนิดรัฐบาลโลก ก็บ่งบอกได้ว่า เป็นการตัดสินใจที่จะแสวงหาความมั่นคงโดยการเปลี่ยนแปลงระบบรัฐ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสองแบบหลังนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็จะต้องมีการลดหรือกำจัดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ

No comments:

Post a Comment