Google

Thursday, September 24, 2009

Foreign Policy Process : Capability Analysis

กระบวนการนโยบายต่างประเทศ : การวิเคราะห์ขีดความสามารถ

การตีค่าอย่างมีระบบโดยรัฐใดรัฐหนึ่ง ต่อขีดความสามารถของตนเอง ในทางทหาร การเมือง การทูต และเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ คือรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ก่อนที่จะดำเนินการริเริ่มในสิ่งที่ได้วางแผนไว้แล้วนั้น ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็จะต้องวิเคราะห์ขีดความสามารถ หรือศักยภาพทางอำนาจของรัฐตน ภายในกรอบของระบบระหว่างประเทศ และที่มีความสัมพันธ์กับรัฐต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้โดยตรง ปัจจัยหลักของอำนาจรัฐทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง อาจต้องเข้ามามีส่วนในการตัดสินความเป็นไปได้ของนโยบายด้วยก็ได้ การวิเคราะห์องค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมนั้น อาจจะรวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ ขนาด ที่ตั้ง ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ประชากร (ขนาด อายุ เพศ กำลังสำรอง) ทรัพยากรธรรมชาติ (วัตถุดิบต่าง ๆ) พลังทางเศรษฐกิจ(ผลผลิตทางเกษตรและทางอุตสาหกรรม) การบริหารการจัดการ (ธรรมชาติ และประสิทธิผลของกลไกรัฐบาล) และกำลังทหาร (ขนาด การจัด อุปกรณ์ การฝึก กำลังสำรอง) ส่วนปัจจัยที่เป็นนามธรรมนั้น (ยากที่จะประเมินยิ่งเสียกว่าปัจจัยทางรูปธรรม เพราะไม่สามารถประเมินค่าได้อย่างถูกต้อง) อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงเรื่องต่าง ๆ อาทิ ลักษณะและขวัญของชาติ คุณภาพของการทูต สัมพันธภาพระหว่างผู้นำของรัฐต่าง ๆ และระดับปฏิกิริยาของรัฐต่าง ๆ

ความสำคัญ การวิเคราะห์ขีดความสามารถจะเกิดประสิทธิผลขึ้นมาได้นั้น ก็จะต้องอาศัยการประเมินค่าตามความเป็นจริงของความสามารถของรัฐที่จะให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มีต่อรัฐอื่น ๆ ภายในบริบทของสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ขีดความสามารถจะกำหนดตายตัวลงไปเลยไม่ได้ มักจะเป็นเรื่องที่โยงใยหรือเกี่ยวพันกับปฏิสัมพันธ์และขีดความสามารถของรัฐอื่น ๆ และก็ยังขึ้นอยู่กับกาลเวลาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของแนวป้องกันมาจิโนต์ของประเทศฝรั่งเศส แนวป้องกันนี้สามารถใช้เป็นแนวป้องกันฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1914 ได้ แต่พอถึงปี ค.ศ. 1940 ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ผิดยุคผิดสมัยไป ทำให้เกิดความผิดพลาดในการวิเคราะห์ขีดความสามารถของฝรั่งเศส และก็เป็นเหตุให้กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ ในการรบครั้งนั้นด้วย

No comments:

Post a Comment