Google

Thursday, September 24, 2009

Foreign Policy Process : Decision-makers

กระบวนนโยบายต่างประเทศ : ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ตัวบุคคลในแต่ละรัฐซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจในการสร้างและดำเนินการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศ ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่เป็นทางการ อาจจะได้รับอิทธิพล (ซึ่งบางทีก็ถึงขนาดเด็ดขาดเลยทีเดียว) จากเอกชนและกลุ่มเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือทำหน้าที่เป็นสมาชิกที่ไม่เป็นทางการของกลุ่ม”มือเก่า”ในชาตินี้ก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว มติของบุคคลชั้นแนวหน้าและของสาธารณชนทั่วไป ก็ยังอาจมีผลต่อปฏิบัติการทางนโยบายต่างประเทศ ด้วยการไปสร้างข้อจำกัดให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยให้การสนับสนุนในนโยบายบางอย่างและให้การปฏิเสธในนโยบายบางอย่าง ในรัฐส่วนใหญ่นั้น ตัวประมุขรัฐบาล (อาจจะเป็นประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี) จะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ แต่ในบางรัฐผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดอาจจะได้แก่หัวหน้าพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่กุมอำนาจในรัฐ ตัวอย่างเช่นในประเทศที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ หรืออาจจะเป็นผู้เผด็จการหรือคณะผู้เผด็จการ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีตำแหน่งเป็นทางการ แต่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ในรัฐที่มีการปกครองตามแบบฟัสซิสต์ บุคคลอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงในรัฐส่วนใหญ่ ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า minister of foreign affairs หรือ secretary of state) ตลอดถึงคณะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อยู่ภายใต้การชี้นำของตัวรัฐมนตรีในกระทรวงการต่างประเทศอีกทีหนึ่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจนนายทหารในระดับสูง ก็ล้วนมีส่วนในการตัดสินใจ สำหรับในรัฐที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่นั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติคนสำคัญ ๆ ของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมาก หรือของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมีบทบาทในการตัดสินใจนโยบายต่างประเทศนี้ด้วยเหมือนกัน ส่วนในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองอื่น ๆ อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายต่างประเทศนี้ด้วย

ความสำคัญ ถึงแม้รัฐต่าง ๆ จะเป็นตัวแสดงในทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ความจริงแล้วตัวมนุษย์เรานี่แหละมีบทบาทเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งทำหน้าที่กระทำหรือมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าจากสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ ตัวบุคคลธรรมดานี่แหละหาใช่สิ่งที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่ารัฐไม่ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำจำกัดความและตีความแนวความคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาตินี้ เป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์ เป็นผู้รับรู้ประเด็นต่าง ๆ เป็นผู้ทำการวินิจฉัยให้มีการปฏิบัติการ และเป็นผู้ทำการประเมินผลปฏิบัติการทุกอย่างที่ได้กระทำลงไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งนี้เพราะบุคคลเรามีแนวโน้มที่จะกระทำและมีปฏิกิริยาต่อสิ่งเร้าอย่างเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลในคณะรัฐบาลก็อาจจะส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางแบบใหม่ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหานโยบายต่างประเทศก็ได้ อย่างไรก็ดี ในหมู่รัฐต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่มีอำนาจเป็นทางการที่จะตัดสินใจแต่มิได้เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริงนั้น การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือในตัวเจ้าหน้าที่ใด ๆ อาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจในนโยบายก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งปวง ในเวลาที่ปฏิบัติการต่าง ๆ จะถูกวางเงื่อนไขและถูกจำกัดโดยสภาวะแวดล้อมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวพันกับการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือที่โยงใยถึงกระบวนการในการในการตัดสินใจต่าง ๆ นั้น

1 comment:

  1. เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ

    ReplyDelete