Google

Thursday, September 24, 2009

Third World : Privatization

โลกที่สาม:การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจ (หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ)

แนวโน้มของกลุ่มประเทศโลกที่สามที่จะผละหนีจากลัทธิสังคมนิยม แล้วหันไปสู่การสนับสนุนภาคเอกชนในต่างประเทศและในประเทศให้มาลงทุน เพื่อเป็นหนทางให้บรรลุถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การให้เอกชนเข้ามามีส่วนของกลุ่มประเทศโลกที่สามนี้ เป็นนโยบายเชิงปฏิบัติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้เป็นที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศตะวันตก การสร้างความดึงดูดใจให้เอกชนจากประเทศตะวันตกหันมาลงทุนในกลุ่มประเทศโลกที่สามดังที่ว่านี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโลกทัศน์ขั้นพื้นฐานของรัฐต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม คือ แทนที่จะถือว่าการลงทุนจากต่างประเทศ เป็น "ลัทธิล่าอาณานิคม" และ "ลัทธิจักวรรดินิยมใหม่" ประเทศที่กำลังพัฒนาก็ได้ทำการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้เอกชนจากต่างประเทศไม่มาลงทุนในประเทศของตนออกไปเสีย การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการรับรู้ในข้อเท็จจริงว่า ทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามายังพื้นที่และประเทศต่าง ๆ ที่เงินรายได้และการส่งผลกำไรจากการประกอบการกลับประเทศ มีการควบคุมน้อยที่สุด ในประเทศที่อยู่ในกลุ่มโลกที่สามบางประเทศ อย่างเช่น ที่ไนจีเรีย การดึงเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจนี้ ได้เกิดขึ้นในรูปของการ “ลงทุนร่วมกัน" โดยให้มีการร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐบาลกับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างคือบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ

ความสำคัญ การดึงเอกชนเข้ามามีส่วนรวมในกระบวนการทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโลกที่สามนี้ เป็นผลผลิตของพลังทั้งภายนอกและภายใน ในทศวรรษหลังปี ค.ศ. 1980 ประเทศอุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งมีประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำทางด้านอุดมการณ์และทางด้านการเมือง ได้ทำการผลักดันให้มีระบบตลาดเสรีทั่วโลกสำหรับการค้าและการลงทุน รัฐต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ซึ่งต่างก็ต้องการแสวงหาเงินทุนอยู่พอดี ก็ได้ปฏิบัติตามแนวความคิดของกลุ่มรัฐตะวันตก และได้เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายดั้งเดิมที่ให้รัฐควบคุมและดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจของชาติเสียเองนั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกื้อหนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ก็คือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของหมู่ประเทศในกลุ่มโลกที่สามที่ได้ใช้นโยบายนี้สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเมื่อตอนแรก ๆ ก่อนหน้านี้ ตัวอย่างของความสำเร็จในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และบราซิล ปัจจุบัน ประเทศทางแอฟริกาส่วนใหญ่ต่างก็ได้ยอมรับสูตรสำเร็จทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี เรแกนนี้ด้วยการโอนกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐให้ไปเป็นของเอกชน และให้การสนับสนุนภาคเอกชนได้เข้ามาดำเนินการทางเศรษฐกิจและการลงทุน แม้แต่ประเทศจีนซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองประเทศตามระบบคอมมิวนิสต์ ก็ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการให้รัฐทำการควบคุมและปฏิบัติการเกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างมาเป็นแบบที่ให้เอกชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ ใช้กำไรเป็นตัวกระตุ้น ใช้เศรษฐกิจแบบการตลาดในบางพื้นที่ และให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ

No comments:

Post a Comment